ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรแข็งค่า ขณะนลท.คาดสเปนขอรับความช่วยเหลือแน่

ข่าวต่างประเทศ Saturday October 13, 2012 09:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐและเยนในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าสเปนจะขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศในเร็วๆนี้ภายใต้ความกดดันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สเปนถูกลดอันดับเครดิต ซึ่งยิ่งกระพือกระแสคาดการณ์ดังกล่าว แม้รัฐบาลสเปนออกมาย้ำแล้วย้ำอีกว่า สเปนไม่ต้องการความช่วยเหลือก็ตาม

ค่าเงินยูโรปรับตัวขึ้น 0.19% แตะที่ 1.2951 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.2926 ดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่าขึ้น 0.29% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 101.56 จากระดับ 101.27 เยน

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 0.10% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 78.400 จากระดับ 78.320 เยน และปรับตัวขึ้น 0.10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ 0.9793 จากระดับ 0.9783 แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 0.15% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9336 จากระดับ 0.9350 ฟรังค์

เงินปอนด์เพิ่มขึ้น 0.17% แตะที่ 1.6072 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6044 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วง 0.30% แตะที่ 1.0233 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0264 และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ขยับลง 0.01% แตะที่ 0.8169 จากระดับ 0.8170 ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของสเปนลง 2 ขั้น สู่ระดับ BBB- ซึ่งสูงกว่าระดับขยะเพียงขั้นเดียวเท่านั้น โดยเอสแอนด์พีระบุว่า เศรษฐกิจของสเปนอยู่ในภาวะที่ถดถอยรุนแรงและจำกัดทางเลือกด้านนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาหนี้ภายในประเทศ

เอสแอนด์พีเปิดเผยในรายงานครั้งล่าสุดว่า การลดอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความเสี่ยงต่างๆที่มีต่อการเงินสาธารณะของสเปนนั้น เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง

นอกจากนี้ สกุลเงินยูโรยังได้ปัจจัยหนุนจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมในยุโรปที่ปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนส.ค. และดีกว่าการประเมินก่อนหน้านี้ โดยสหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยวานนี้ว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 0.6% ในเดือนส.ค.และก.ค.

ด้านดอลลาร์สหรัฐถูกแรงขายกดดัน หลังจากที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวขึ้นเกินคาดสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงก่อนที่จะเกิดภาวะถดถอยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งข้อมูลดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดแรงขายสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐช่วงต้นเดือนต.ค. จากรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ 83.1 จุด จากระดับ 78.3 จุดในเดือนก่อนหน้า สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 78 จุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ