(เพิ่มเติม1) กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 2.75%แต่ไม่ใช่การส่งสัญญาณเข้าสู่ขาลง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 17, 2012 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในการประชุมวันที่ 17 ต.ค.55 มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 2.75% โดยเตรียมปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 55 และ ปี 56 ตามการส่งออกที่ทำได้ต่ำกว่าคาดการณ์เดิม ซึ่งจะมีการแถลงในวันศุกร์หน้า แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการส่งสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ขาลง

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.ในฐานะเลขานุการ กนง.กล่าวว่า กรรมการฯ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าในภาวะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังอ่อนแอและมีความเสี่ยงสูง นโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและรักษาแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศที่อาจจะอ่อนแรงลงในระยะต่อไป

ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 แม้ว่ากรรมการฯ 2 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าแรงส่งของการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรอดูความชัดเจนในระยะต่อไปได้

กนง.เห็นว่า ไตรมาส 3/55 เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ภาคการส่งออกและการผลิตเพื่อการส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชัดเจนขึ้น โดยประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของการส่งออกในระยะต่อไป ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดี แต่ชะลอลงหลังจากการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูจากผลของอุทกภัยหมดลง สำหรับสินเชื่อภาคเอกชนยังขยายตัวในระดับสูงและยังต้องติดตามต่อไป ส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับที่รับได้

ขณะที่เศรษฐกิจโลกในภาพรวมยังคงอ่อนแอ แม้มีสัญญาณที่ดีขึ้นบ้างจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชี้ว่าภาคที่อยู่อาศัยและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น และการผ่อนคลายนโยบายการเงินของประเทศหลักได้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้ตลาดการเงินโลกได้บ้าง แต่อุปสงค์โลกที่อ่อนแอส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภูมิภาคและจีนมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัว และอาจส่งผลต่อการส่งออกของประเทศภูมิภาคมากขึ้นอีกในระยะข้างหน้า ขณะที่ความเสี่ยงด้านการคลังของสหรัฐฯ และการแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยูโรยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจโลกต่อไป

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ธปท.เตรียมพิจารณาปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 55-56 ลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 5.7% ในปี 55 และ 5% ในปี 56 เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากกว่าเคยคาดการณ์ไว้ โดยจะมีการแถลงผลสรุปในวันที่ 26 ต.ค.นี้ โดย ธปท.มองว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 7% ที่เคยคาดไว้ และในระยะต่อไปจะเกิดผลกระทบต่อเนื่องจากการส่งออกชะลอตัวทั้งรายได้ การใช้จ่าย และการลงทุนในประเทศ

ประกอบกับ กนง.เห็นว่าแม้ว่าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แต่ถ้ามองไปนัยข้างหน้าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังมีสูง จึงเห็นพ้องให้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อให้เป็นแรงส่งต่ออุปสงค์ในประเทศปี 56 ขณะที่เศรษฐกิจปีนี้คงไม่ได้ต่างจากที่พยากรณ์ไว้มากนัก แต่ในปี 56 เทียบปีต่อปีจะมีการปรับลดลง ซึ่งการทำนโยบายการเงินจะมองผลที่เกิดขึ้นในอนาคตมากกว่า เพราะเห็นความเสี่ยงที่มีมากขึ้นในอนาคต ทั้งความเสี่ยงจากการชะลอตัวองเศรษฐกิจโลก และการส่งออกชะลอตัว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในปี 56 มีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่จะชะลอตัวลงชัดเจน แต่หากมองการส่งออกในปี 56 เทียบกับปี 55 น่าจะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเมื่อเทียบกับปีนี้ สอดคล้องกับมุมมองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก แต่ความเสี่ยงก็ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะมีหลายประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มยุโรป และเศรษฐกิจสหรัฐที่นโยบายด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะหมดอายุภายในปลายปีนี้

ส่วนปัจจัยในประเทศนั้น มองว่าความเสี่ยงด้านอุปสงค์ในประเทศและการลงทุนที่อาจชะลอลงหลังหมดการฟื้นฟูน้ำท่วม และการส่งออกที่จะชะลอตัวลงในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้มีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยงด้านสินเชื่อขยายตัว แต่ก็ต้องมีการติดตามการขยายตัวของสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์และการอุปโภคบริโภคต่อไป

ขณะที่ความกังวลจากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อผลกระทบภาคการออมนั้น เป็นเรื่องระยะยาวที่กนง.ยังไม่ได้พิจารณาในขณะนี้ ถือเป็นความเสี่ยงระยะยาวมากกว่าระยะสั้น โดยอาจเป็นความเสี่ยงช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำนาน ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ 0.25% จากเดิม 0% กนง. 5 เสียงจึงมองว่าความเสี่ยงระยะสั้นมีมากกว่าระยะยาว ประกอบกอบอัตราเงินเฟ้อต่ำยังมีช่องให้ลดดอกเบี้ยเพื่อเป็นแรงส่งเศรษฐกิจต่อไป

ขณะที่อีก 2 เสียงข้างน้องเห็นว่าควรคงดอกเบี้ย เพราะมองว่าเศรษฐกิจโลกยังต้องใช้เวลาแก้ไขยาวนาน ประกอบกับการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศยังขยายตัวได้ดี เชื่อว่าจะเป็นแรงส่งไปยังเศรษฐกิจปี 56 ได้ดีพอสมควร ดังนั้น จึงให้คงดอกเบี้ยเพื่อรอดูความเสี่ยงด้านอื่น ๆ

ด้านการส่งผ่านนโยบายการเงินนั้น หากธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบั้ยตาม กนง.ก็จะเกิดผลทางด้านปฏิบัติโดยเร็ว แต่การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารจะเกิดขึ้นในหลายปัจจัย โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเอง และกับธนาคารภาครัฐ แต่ในที่สุดกลไกตลาดก็จะเป็นตัวตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม กนง.ยังย้ำว่าการทบทวนอัตราดอกเบี้ยเป็นการพิจารณาจากปัจจัยรอบด้าน ไม่ได้ใช่เรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นปัจจัยหลัก และไม่ได้ส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยว่าจะเป็นขาลงหรือขาขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ