หอการค้าไทยเตรียมนำนักธุรกิจเยือนพม่าหาช่องย้ายฐานลดผลกระทบขึ้นค่าแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 4, 2012 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะจัดคณะผู้นำทางธุรกิจรายใหญ่ 20 ราย เช่น เครือสหพัฒน์, กลุ่มมิตรผล, ไทยเบฟเวอเรจ และธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น เตรียมเดินทางไปเยือนพม่าระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค.55 เพื่อพบกับประธานและผู้แทนระดับสูงของหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งพม่า ในการกระชับความสัมพันธ์และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

นอกจากนี้ ยังจะไปศึกษาลู่ทางย้ายฐานการลงทุนไปยังพม่า เพื่อหาทางลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศในปีหน้า เพราะพม่าน่าลงทุนมากที่สุดในอาเซียนขณะนี้ นอกจากมีทรัพยากรธรรมชาติมากแล้วยังมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำมากเพียงวันละ 75-120 บาท ส่วนอัตราค่าจ้างในระดับปริญญาตรีเดือนละ 3,000-6,000 บาทเท่านั้น ขณะเดียวกันยังได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GDP)ในการส่งออกสินค้าเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าด้วย

ประธานกรรมการหอการค้าไทย ยังกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 55 โดยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัว 5.5% เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป และสหรัฐฯ รวมถึงปัญหาอุทกภัย ส่วนแนวโน้มในปี 56 ยังน่าเป็นห่วงโดยคาดจะขยายตัวที่ 4-5% จากความต้องการภายในที่สูงขึ้น

ขณะที่ด้านส่งออกคาดจะขยายตัวได้ไม่เกิน 5% โดยสินค้าที่จะขยายตัวได้ดี เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ, เครื่องนุ่งห่ม, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ส่วนสินค้าที่ชะลอตัว ได้แก่ ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ อาหารทะเลแช่แข็ง, เฟอร์นิเจอร์, ยางพารา เป็นต้น

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในวันที่ 6 ธ.ค. จะหารือเพื่อสรุปมาตรการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก(SMEs)อีกครั้ง ก่อนส่งให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 11 ธ.ค.นี้

เบื้องต้นจะเสนอมีเรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร การเสนอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณเพื่อใช้เป็นกองทุนจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าแรงขั้นต่ำให้กับ SMEs เป็นต้น

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าระบบประมาณปีละ 100,000-150,000 ล้านบาท ซึ่งจะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ 1% แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่สภาพการเมืองภายในประเทศนิ่ง และเศรษฐกิจโลกไม่ถดถอยไปกว่านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ