นักวิชาการห่วงประชานิยมอาจดันหนี้สาธารณะพุ่งถึง 78%ปี 62-คลังยันบริหารได้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 19, 2012 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ในงานเสวนาเรื่อง"หนี้สาธารณะ:ระเบิดเวลา หรือยากระตุ้นเศรษฐกิจ"ว่า มีความกังวลโครงการประชานิยมจะสร้างภาระหนี้รัฐบาลโดยที่มองไม่เห็น โดยหากเศรษฐกิจขยายตัวในระยะต่อไปได้ที่ 4-5% ก็จะถือเป็นระดับที่ไม่น่าเป็นห่วงมาก แต่หากมีปัจจัยแวดล้อมต่างๆกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจจะทำให้เกิดภาวะติดกับดักทางการคลังได้

นอกจากนี้ คงต้องจับตาแนวโน้มรายจ่ายภาครัฐในโครงการประชานิยมจะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ เช่น โครงการรถคันแรกมีครั้งเดียวแล้วหมดไป หรือโครงการรับจำนำข้าวที่ประเมินว่า จะขาดทุนปีละ 1.4-1.5 แสนล้านบาทต่อเนื่อง 6-7 ปี

ทั้งนี้ มีการตั้งสมมติฐานกรณีเลวร้ายสุด ที่เศรษฐกิจขยายตัวได้เพียง 3.5% เงินเฟ้ออยู่ที่ 2% รัฐบาลมีโครงการประชานิยม เช่น โครงการรับจำนำข้าวที่ขาดทุนปีละ 1.4-1.5 แสนล้านบาทและโครงการประชานิยมอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายในมูลค่าเท่ากัน โครงการลงทุนภาครัฐ 2 ล้านล้านบาท ทั้งหมดจะทำให้ภาระหนี้สาธารณะพุ่งสูงถึง 78% ในปี 62 จากปัจจุบันที่ประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 4.5% โครงการประชานิยมในปัจจุบัน และการก่อหนี้ตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทภาระหนี้สาธารณะอยู่สูงถึงระดับ 48% แล้ว

"ต้องจับตามอัตราการเพิ่มขึ้นของโครงการประชานิยมว่าจะเพิ่มขึ้นใน 4-5 ปี จะจบที่เท่าไร ที่ 50-60% หรือจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสิทธิที่ตลาดจะจับตา ทั้ง level ของหนี้ และอัตราการเพิ่มขึ้น"นายสมชัย กล่าว

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า โครงการประชานิยมขณะนี้เป็นการก่อหนี้สาธารณะที่เป็นระเบิดเวลาที่มองไม่เห็น เพราะหนี้สาธารณะถูกจำกัดเพดานก่อหนี้ไว้ตาม พ.ร.ก.หนี้สาธารณะ แต่การก่อหนี้จากโครงการประชานิยมทั้งโครงการรับจำนำข้าว โครงการอื่นๆ เป็นหนี้ที่ยังมองไม่เห็น เป็นหนี้ที่เกิดแล้วแต่มาขอก่อหนี้ในภายหลัง ดังนั้น เป็นห่วงว่าโครงสร้างรายได้ รายจ่ายภาครัฐ และการแทรกแซงทางการเมือง จะทำให้หนี้สาธารณะที่ไม่ใช้การใช้จ่ายเพื่ออนาคตเพิ่มขึ้น ประกอบกับกฎหมายองค์กรกำกับดูแลหนี้สาธารณะไม่สามารถควบคุมหนี้สาธารณะได้อย่างแท้จริง

ขณะที่นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะกว่า 4.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 2.3 ล้านล้านบาท การค้ำประกันหนี้รัฐวิสาหกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท หนี้สินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.13 ล้านล้านบาท และที่เหลือเป็นหนี้สถาบันการเงินของรัฐ โดยระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบัน 43% ของจีดีพี อยู่ในระดับบริหารจัดการได้ ยังอยู่ต่ำกว่ากรอบวินัยการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี และระดับภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 5-6% เท่านั้น ยังต่ำกว่ากรอบที่กำหนดไว้ที่ 15%

"ยืนยันว่าระดับหนี้สาธารณะไม่ได้อยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วง ยังบริหารจัดการได้...หนี้สาธารณะไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก หากจะใช้มากก็จะมาจากการขาดดุลงบประมาณ แต่รัฐบาลก็มีนโยบายที่จะลดการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง และ 4-5 ปี จะเข้าสู่ภาวะสมดุลส" นายจักรกฤศฎิ์ กล่าว

ทั้งนี้มองว่าตลาดในประเทศขณะนี้ ยังสามารถรองรับการระดมทุนภาครัฐได้เป็นเวลาถึง 10 ปี เนื่องจากตลาดมีการพัฒนาไปมาก ทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีการระดมทุนรวมอยู่ที่ 70-80%ของจีดีพีเท่านั้น

สำหรับโครงการประชานิยม ที่มีความกังวลว่าเป็นการสร้างภาระหนี้รัฐบาลนั้น มองว่า โครงการต่างๆ ทั้งโครงการรับจำนำข้าว โครงกาในภาคเกษตร รัฐบาลจะต้องมีทิศทางในการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นภาระหนี้รัฐบาล เพราะการจะเกิดภาวะระเบิดเวลาคงไม่เกิดขึ้น เพราะจะต้องมีสัญญาณก่อนการระเบิด ดังนั้นคงไม่เห็นภาระหนี้รัฐบาลพุ่งสูงขึ้นแบบทันทีทันใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ