CIMBT คาดประชุมกนง.รอบนี้คงดอกเบี้ย แต่แนวโน้มครั้งต่อไปมีโอกาสปรับลด 0.50%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 19, 2013 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ก.พ. 56 จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.75% เนื่องจากในช่วงนี้ยังไม่มีความจำเป็นในการลดอัตราดอกเบี้ย จากค่าจ้างขั้นต่ำมีผลต่อการว่างงานไม่มากนัก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 55 จาก 50% ต่อรายได้ มาอยู่ที่ 57% ต่อรายได้

ส่วนปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมราคาประมาณ 1 ล้านบาท และการเก็งกำไรที่ดินในเมืองใหญ่ ยังไม่พบหลักฐานว่าเงินทุนไหลเข้าจะมีผลกระทบต่อการเก็งกำไร

นอกจากนี้ยังมองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในครั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการถูกมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ถูกฝ่ายการเมืองเข้ามากดดัน แต่แนวโน้มในการประชุมครั้งต่อไปคาดว่าอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 0.50 เพื่อเป็นการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มของการชะลอตัวทั้งภาคการบริโภคและภาคการลงทุน

“ มองว่ากนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นในการลดอัตราดอกเบี้ย และเพื่อเป็นการไม่ให้แบงก์ชาติเสียเครดิตที่ถูกคนภายนอกมองว่ามีฝ่ายการเมืองเข้ามากดดัน ส่วนในการประชุมครั้งต่อไปมีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.50 เนื่องจากภาวะการชะลอตัวชองภาคการบริโภคและภาคการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งจากดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถทำได้ ต้องใช้หลายมาตรการมาเสริม อย่างเช่นการเก็บภาษีเงินลงทุนที่เข้ามาสั้นกว่า 1 ปี หรือการลดดอกเบี้ยนโยบายพร้อมกับมาตรการพรูเด็นเชียล เพื่อป้องกันฟองสบู่และการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน" นายบันลือศักดิ์ กล่าว

ส่วนค่าเงินบาทไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 56 ยังมีแนวโน้มแข็งค่าและผันผวน โดยมองการเคลื่อนไหวในกรอบ 29.50-30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากการที่มีเงินทุนไหลเข้าเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูง โดยส่วนใหญ่เงินทุนจะไหลเข้ามาในตราสารหนี้ และคาดว่ากระแสเงินทุนจะไหลเข้ามาติ่เนื่องอีก 1-2 ปี จากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เศรษฐกิจในยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีปัญหาโครงสร้างและอาจจะมีการชะลอตัวเกิดขึ้น

แนวโน้มค่าเงินบาทของไทยช่วงครึ่งปีหลังยังมีโอกาสอ่อนค่าลงจากมาตรการแก้ปัญหาค่าเงิน ซึ่งทางธปท.ควรร่วมมือกับรัฐบาลในการในการออกมาตรการที่มีความผสมผสาน ซึ่งอาจจะเป็นการให้รัฐบาลกู้เงินสำรองระหว่างประเทศเพื่อนำไปลงทุนหรือเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยไม่เกิน 1 ใน 3 ของดุลบัญชีเดินสะพัด หรือประเทศไทยอาจจะมีการหารือกับกลุ่มประเทศอาเซียนในการร่วมมือการแก้ปัญหาเรื่องค่าเงินร่วมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ