ภาคอุตสาหกรรมพร้อมหยุดผลิต 5 เม.ย.เพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุไฟฟ้าดับ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 21, 2013 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพร้อมจะเลื่อนหรือหยุดทำการผลิตในวันที่ 5 เม.ย.56 แล้วมาเปิดทำการผลิตตามปกติในวันอาทิตย์ที่ 7 เม.ย.56 เพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุไฟฟ้าดับอันเป็นผลเนื่องมาจากพม่าจะเริ่มหยุดส่งก๊าซธรรมชาติให้ในวันที่ 5 เม.ย.56 ซึ่งส่งผลให้สำรองไฟฟ้าพร้อมใช้ของประเทศเหลือเพียงร้อยละ 2 หรือ 750 เมกะวัตต์เท่านั้น

"ทางสภาอุตสาหกรรมฯ จะนำไปหารือกับ 42 กลุ่มอุตสาหกรรม กว่า 8 พันแห่งว่าโรงงานกลุ่มใดจะเลื่อนหรือหยุดได้บ้าง เบื้องต้นมีโรงงานที่พร้อม เช่น กลุ่มยานยนต์ ปิโตรเคมี เหล็ก กระดาษ พลาสติก ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ จะลดการใช้ไฟฟ้าในวันที่ 5 เมษายน โดยการเลื่อนทำการผลิตจะไม่กระทบต่อออเดอร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งไม่กระทบต่อแรงงงาน เพราะยังคงจะหยุดยาวช่วงสงกรานต์ 12-16 เมษายนเช่นเดิม" นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังนำคณะผู้บริหารฯ เข้าพบนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รมว.พลังงาน เพื่อหารือถึงมาตรการรับมือกับวิกฤตไฟฟ้า

ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ทางกลุ่มโรงงานหวั่นเรื่องค่าไฟฟ้าแพงในอนาคต อยากให้กระทรวงบริหารความเสี่ยงลดการพึ่งพาก๊าซ ไปพึ่งพาพลังงานอื่นๆ เช่น น้ำ ถ่านหิน เพราะหากพึ่งพาก๊าซฯ มากกว่าร้อยละ 70 หรือยังพึ่งพาเช่นนี้ ไทยต้องนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นซึ่งก็จะกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า และกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหากใช้เชิ้อเพลิงอื่นๆ และสำรองไฟฟ้ามากขึ้น ก็จะสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน

"การเลื่อนการผลิตจากวันที่ 5 เมษายนออกไปนั้น หลายโรงงานอาจจะไปเปิดผลิตวันที่ 7 หรือ 11 เมษายนทดแทน ซึ่งช่วงดังกล่าวจะมีวันหยุดชดเชยวันจักรีการใช้ไฟฟ้าก็จะลดน้อยลง ความเสี่ยงก็ลดลง" นายพยุงศักดิ กล่าว

ขณะที่นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีการหารือกันในวันพรุ่งนี้ ว่าโรงงานผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนอีก 1,700 โรงงาน จะมีโรงงานใดเลื่อนการผลิตได้ โดยภาพรวมแล้วจะมีหลายโรงงาน และไม่กระทบต่อออเดอร์รถยนต์คันแรกที่รอต่อคิวการส่งมอบแต่อย่างใด

"ที่รัฐบาลส่งสัญญาณความชัดเจนของปัญหาไฟฟ้าล่วงหน้าเช่นนี้ก็ทำให้โรงงานสบายใจ เพราะสามารถเตรียมแผนผลิตล่วงหน้าลดผลกระทบได้ ในขณะนี้ก็หวังเพียงว่า ทางพม่าจะซ่อมแท่นขุดเจาะก๊าซยาดานาเสร็จสิ้นตามแผนในวันที่ 14 เมษายน แต่หากไม่เสร็จ ทางโรงงานก็พร้อมจะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ปัญหาอีก" นายศุภรัตน์ กล่าว

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว. กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมนับเป็นสัดส่วนการใช้ที่สูงที่สุดของประเทศมีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 เมื่อลดการใช้เช่นนี้ก็จะทำให้ความเสี่ยงไฟดับลดลง เพราะเดิมคาดว่าสำรองพร้อมใช้ในวันที่ 5 เม.ย.จะเหลือเพียง 750 เมกะวัตต์

"เมื่อโรงงานลดการใช้พลังงานเช่นนี้ก็เชื่อมั่นสำรองจะเหลือเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงจะน้อยลง และกระทรวงพลังงานคงไม่หารือกับภาคบริการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า โรงแรม เพราะเท่าที่ทราบในขณะนี้ทุกฝ่ายพร้อมร่วมมือในการลดใช้พลังงาน เช่น ชิลเลอร์ในโรงแรม ในห้าง ก็พร้อมจะปิดลงในช่วงเที่ยง ส่วนประชาชนก็ขอความร่วมมือในการลดการใช้แอร์ในช่วงดังกล่าว" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

โดยในส่วนของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า รวมทั้งโรงแรมหลายแห่งอยู่ในระหว่างการทำแผนลดการใช้ไฟฟ้า เช่น สยามพารากอน กลุ่มเซ็นทรัล จะปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศภายในศูนย์การค้าขึ้น 1 องศา ซึ่งจะเป็นการปรับตามช่วงเวลา แต่ยังคงให้ลูกค้ารู้สึกสบายเมื่อเข้ามาใช้บริการ มีการควบคุมระบบแสงไฟในอาคาร ขณะที่สมาคมโรงแรมทำหนังสือถึงสมาชิกในการลดใช้พลังงาน และเตรียมการผลิตไฟฟ้าสำรองที่โรงแรมจะมีอยู่แล้ว โดยแต่ละแห่งได้มีการสำรองดีเซลเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ และลดใช้พลังงานหลายรูปแบบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ