"ชัชชาติ"เชื่อแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะ 7 ปี ดันไทยผงาดรับ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 22, 2013 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟแควสท์"ว่า แผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งในช่วง 7 ปี (ในช่วงปี 56 - 63) จะใช้เงินลงทุนรวมกว่า 4.4 ล้านล้านบาท มาจากพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท อีกครึ่งจะมาจากงบประมาณในช่วง 7 ปีๆ ละประมาณ 4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 25% ต่อปีของงบประมาณ

ทั้งนี้ ในส่วนวงเงินลงทุนตามพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน งบส่วนใหญ่กว่า 80% หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ลงทุนระบบราง นอกนั้นลงทุนทางถนน และทางน้ำ

รมว.คมนาคม คาดว่าจะนำร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาทเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 26 ก.พ. พิจารณาอนุมัติกรอบใหญ่ที่ครอบคลุมยุทธศาสตร์ประเทศ และคาดว่าในต้นมี.ค. จะเสนอรายละเอียดของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ในราวเดือนเม.ย.จากนั้นจะเริ่มใช้เงินลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อไป ดังนั้นในครึ่งปีหลังจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบขนส่ง และคาดว่าจะเห็นผลชัดเจนในช่วงปีที่ 3 หรือปีที่ 4 ของแผน

"ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป รถไฟฟ้า รถทางคู่ก็เริ่มทยอยเสร็จ...จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในปีครี่ง ถ้าหัวรถจักรมาจะเร็ว" รมว.คมนาคม กล่าว

ทั้งนี้คาดว่าภายในปี 56 จะสามารถเปิดประมูลงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ทั้ง 4 เส้นทางในช่วงปลายปี ขณะที่หัวรถจักรจะเปิดประมูลในไตรมาส 3/56 ซึ่งงบลงทุนหัวรถจักรจะไม่ใช้เงินจากพ.ร.บ.กู้เงินฯ ส่วนรถไฟฟ้าในเมืองปีนี้จะประมูลได้ 3-4 เส้นทาง ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องจากรัฐบาลที่แล้วที่มีแผนดำเนินการ 10 เส้นทาง

"อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องวาระแห่งชาติ ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็ควรทำต่อ เหมือนที่เรานำโครงการสมัยที่นายกฯ อภิสิทธิ์ มาดำเนินการต่อ อย่าคิดว่าเป็นการเมือง ใครมาก็เห็นตรงกัน ทุกคนทำต่อได้"นายชัชชาติ กล่าว พร้อมเชื่อว่า แผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งดังกล่าวจะมีส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยในช่วง 7 ปีต่อจากนี้สามารถเพิ่มขึ้นได้อีก 1%ต่อปีจากระดับที่คาดว่าจะเติบโตได้ในแต่ละปี

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ข้อดีการจัดทำเป็นพ.ร.บ.ฯ เพื่อนำไปใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยตรง จะทำให้เกิดความมั่นใจทุกฝ่าย ไดัแก่ นักลงทุนต่างชาติ ประชาชนในประเทศ และนักธุรกิจที่จะสามารถวางแผนธุรกิจได้ถูกทางสอดคล้องกับแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งผู้รับเหมา และมหาวิทยาลับยจะได้เตรียมบุคลากรเพื่อรองรับงานโครงการก่อสร้างในอนาคต

"ถ้าไม่มีพ.ร.บ.นี้ก็ทำเป็นโครงการๆไป แต่ไม่เห็นว่าภาครรวมมีการทำงานอย่างไร และพ.ร.บ.นี้ไม่ได้ผูกมัด ขึ้นกับรัฐบาลใหม่จะดำเนินการต่ออยู่หรือไม่ ถึงแม้จะไม่ทำ แต่ถ้าทำก็มีเงินให้ ซึ่งรัฐบาลหน้าก็ทำต่อได้ง่ายขึ้นและมีความโปร่งใส เรานำเข้าสภาฯ เชิญคนองค์กรข้างนอกมาช่วยดู นี่คือแนวคิด...พออยู่ในแผน ทุกคนก็ช่วยกันทำ แม้จะทำไม่ทันเปิดรับ AEC ก็ไม่เป็นไร และเชื่อว่าประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่พร้อม คือเราทำให้ดีก่อน เขาก็พร้อมมาเชื่อมกับเรา" รมว.คมนาคม กล่าว

ทั้งนี้ แผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง(ปี 56-63) เพื่อมุ่งสู่ยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ของประเทศไทยและจะนำไปสู่ยุทธศาสตร์ของประเทศด้วย ทั้งนี้ยุทธศาสตร์โลจิสติกส์มี 3 ด้านคือ 1.การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า(Modal Shift+Multimodel)ได้แก่ การพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายทางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบัน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนให้มีการขนส่งสินค้าทางลำน้ำและชายฝั่ง รวมทั้งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งในการเดินทางไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน(Connectivity) ด้วยการพัฒนาประตูการค้าหลักและประตูการค้าระหว่างประเทศ ถนนเชื่อมด่าน และสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณด่าน เพื่อเป็น Gateway อีกด้านพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อภูมิภาคโดยพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง โครงข่ายระบบรางในเส้นทางสายใหม่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง

และ 3.พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว(Mobility)ที่จะพัฒนาระบบขนส่งในเขตเมือง ด้วยการเดินหน้าระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพและปริมณฑล 10 สายทาง และพัฒนาโครงข่ายขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักภายในประเทศ โดยจะพัฒนาโครงข่ายเส้นทางถนนใหม่ในพื้นที่ที่มีกิจกรรมด้านการเกษตร การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ให้เป็น 4 ช่องจราจร

ผลจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในครั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจและประตูการค้าหลักของประเทศ

ขณะเดียวกัน ภาครัฐเล็งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ลดลงจากปัจจุบันที่มี 15.2% ให้ไม่น้อยกว่า 2% สัดส่วนผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนบุคคลลดลงจาก 59% เหลือ 40% ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 39 กม./ชม. เป็น 60 กม./ชม. และความเร็วเฉลี่ยของขบวนรถไฟโดยสารเพิ่มขึ้นจาก 60 กม./ชม.เป็น 100 กม./ชม. อีกทั้งเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางเป็น 5% จาก 2.5% ขนส่งสินค้าทางน้ำเพิ่มเป็น 18% จาก 14% ลดความสูญเสียจากน้ำมันเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท/ปี

ในทางกลับกัน หันมาเพิ่มสัดส่วนการเดินทางรถไฟฟ้าจาก 5% เป็น 30% ปริมาณผู้โดยสารทางรถไฟเพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนเที่ยว/ปี เป็น 75 ล้านคนเที่ยว/ปี ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านเข้า-ออกทางด่านการค้าชายแดนที่สำคัญเพิ่มขึ้น 5% และยังลดระยะเวลาการเดินทางจากกทม.ไปสู่เมืองตามภูมิภาคด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงภายในรัศมี 300 กม.รอบกรุงเทพฯ ในระยะเวลาไม่เกิน 90 นาที จากเดิมใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมง อาทิ กรุงเทพฯ-หัวหิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ