SCB EIC แนะไทยรักษาวินัยทางการคลังคงอันดับความน่าเชื่อถือหลังฟิทช์ปรับเครดิต

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 12, 2013 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ระบุว่า การที่ Fitch Rating เพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในส่วนของพันธบัตรระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศจาก BBB เป็น BBB+ และพันธบัตรระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศจาก F3 เป็น F2 นอกจากนี้ Fitch ยังคงความน่าเชื่อถือของพันธบัตรระยะยาวสกุลเงินในประเทศไว้ที่ A- ครั้งนี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของพันธบัตรระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศเท่ากับ Moody’s และ S&P ก่อนหน้านี้ Fitch จัดความน่าเชื่อถือพันธบัตรระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของไทยอยู่ที่ BBB ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำกว่าของ Moody’s ที่ Baa1 และ S&P ที่ BBB+ ดังนั้นการปรับอันดับของ Fitch ครั้งนี้จึงทำให้ความน่าเชื่อถือของพันธบัตรระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของไทยเท่ากันใน 3 สถาบันจัดอันดับชั้นนำ

ทั้งนี้ SCB EIC มองว่า การปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยครั้งนี้ เป็นเครื่องสะท้อนถึงความแข็งแกร่ง และความยืดหยุ่นของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ของไทย ที่มีการปรับตัวได้เป็นอย่างดีในการรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ วิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009 แผ่นดินไหวญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม 2011 และมหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2011 โดยการเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาครัฐและภาคเอกชนไทยลดลง ซึ่งในปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย 5 ปีอยู่ที่ 3.2% ใกล้เคียงกับมาเลเซียและฟิลิปปินส์ และต่ำกว่าอินโดนีเซียซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.8% อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญต่อวินัยทางการคลัง และภาระทางการคลังที่ซ่อนเร้นต่างๆ ที่จะสามารถส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลังได้ในอนาคต

ในการพิจารณาปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือนั้น Fitch คาดการณ์ว่า ระดับหนี้สาธารณะของไทยเมื่อรวมการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานแล้ว จะยังคงอยู่ต่ำกว่า 50% ต่อ GDP ดังนั้น SCBEIC มองว่าวินัยทางการคลังของรัฐบาลไทยจะเป็นสิ่งที่สำคัญในการรักษาระดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการรายรับและรายจ่ายเพื่อเข้าสู่งบประมาณสมดุลภายในปี 2017 จะเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของรัฐบาล ทั้งนี้อุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ การปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งเป็นรายได้ภาษีอันดับที่ 2 ของรัฐบาล และแนวโน้มการขยายตัวของรายจ่ายประจำจากภาระผูกพันต่างๆ (รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.5% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา)

สิ่งที่น่าสนใจอีกสิ่งหนึ่งคือ Fitch ได้แสดงความเป็นห่วงต่อภาระการคลังที่ซ่อนเร้น (Contingency Liabilities) ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในระยะอันใกล้นี้ โดย Fitch ได้ให้เหตุผลว่าภาระการคลังที่ซ่อนเร้นนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรระยะยาวสกุลเงินในประเทศยังไม่ได้รับการปรับขึ้น ทั้งนี้ SCBEIC ประเมินว่าภาระการคลังที่ซ่อนเร้นที่สำคัญของไทย ได้แก่ ความเสี่ยงที่รัฐจะขาดทุนจากโครงการจำนำข้าว และการที่รัฐอาจต้องแบกรับความเสี่ยงด้านการเงินจากการก่อสร้างโครงการคมนาคมขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ