ก.เกษตรฯ ยกร่างจีแอลพี อุตฯ กุ้ง-อาหารทะเลแก้ปัญหาใช้แรงงานเด็ก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 18, 2013 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงว่า กรมประมงยกร่างแนวทางการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติแรงงานที่ดี หรือ จีแอลพี สำหรับสถานประกอบการแปรรูปเบื้องต้นหรือล้ง เพื่อนำมาใช้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมกุ้งและอาหารทะเล

สาระสำคัญจะเกี่ยวข้องกับการป้องกันการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การจ้างงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย สวัสดิการแรงงาน และการปรับปรุงสภาพการทำงานและสถานประกอบการ ซึ่งร่างจีแอลพีดังกล่าวได้เผยแพร่ให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งและอาหารทะเลให้ได้รับทราบในเบื้องต้น

ล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา กรมประมงร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้ดำเนินการทดสอบความเหมาะสมของแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีสำหรับล้งกุ้งและอาหารทะเลนำร่อง ในรูปแบบการฝึกอบรมกับผู้ประกอบการล้งมากกว่า 30 ราย และมีโรงงานแปรรูปกุ้งและอาหารทะเลเข้าร่วมสังเกตการณ์ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการล้งที่เห็นประโยชน์ของการจัดทำจีแอลพีและได้แสดงความประสงค์เบื้องต้นที่จะเข้าร่วมเป็นล้งนำร่องต้นแบบขอจีแอลพีแล้วจำนวน 15 แห่ง ขณะเดียวกัน ยังได้ดำเนินการทดสอบจีแอลพีกับผู้ประกอบการล้งกุ้งและอาหารทะเลในอีก 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และระนอง เมื่อเดือน ม.ค.และ ก.พ.2556 เพื่อนำมาปรับปรุง โดยในขณะนี้ ได้มีการปรับปรุงร่างจีแอลพีเป็นร่างที่ 4 แล้ว ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่จีแอลพีฉบับที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการล้งสามารถไปนำปฏิบัติใช้โดยสมัครใจภายในต้นไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

นอกจากนี้ กรมประมงยังได้ดำเนินการสำรวจล้งกุ้งและอาหารทะเลในจังหวัดสมุทรสาคร และการขึ้นทะเบียนล้ง เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานของสถานประกอบการแปรรูปกุ้งและอาหารทะเลเบื้องต้น ที่จะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐ สมาคมผู้ผลิตสินค้ากุ้งและอาหารทะเล ในการปรับปรุงสภาพการทำงานของแรงงาน รวมถึงเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาฐานข้อมูลในการติดตามแรงงานในพื้นที่ และพัฒนาระบบควบคุมสุขอนามัย ความปลอดภัยและคุณภาพการผลิต

ผลจากการสำรวจพบว่า มีสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นในพื้นที่จำนวน 582 แห่ง โดยมีสัดส่วนขนาดสถานประกอบการ แบ่งเป็นขนาดเล็กมาก 14% ขนาดเล็ก 43% ขนาดกลาง 18% และขนาดใหญ่ 25% สำหรับล้งที่ได้รับวัตถุดิบจากโรงงานแปรรูป จะต้องผ่านการตรวจรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากกรมประมง และได้รับการรับรอง GMP จากกรมประมง

ในขณะนี้มีจำนวนล้ง ที่ได้รับการรับรอง GMP โดยกรมประมง จำนวน 100 แห่ง จากจำนวนสถานประกอบการที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง ทั้งสิ้น 203 แห่ง แบ่งเป็น สถานประกอบการแปรรูปกุ้ง 104 แห่ง และสถานประกอบการอื่นๆ อีก 99 แห่ง ซึ่งทางสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาครจะปฏิบัติงานในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการขึ้นทะเบียนล้งในจังหวัดสมุทรสาครให้แล้วเสร็จทั้งหมด ซึ่งล่าสุดพบว่ามีจำนวนล้งที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2555 แล้วทั้งสิ้น 354 ล้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ