นายกรัฐมนตรีไทย-นิวซีแลนด์เห็นพ้องร่วมมือด้านความมั่นคง-สังคม-เศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 22, 2013 11:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เผยผลหารือทวิภาคีระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ต่างแสดงเจตนารมณ์ที่จะเร่งเสริมสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือในสาขาต่างๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพระหว่างกัน

โดยความร่วมมือดังกล่าว ได้แก่ ความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง ไทยและนิวซีแลนด์มีความร่วมมือด้านการทหารที่ใกล้ชิดกันผ่านกลไก Thailand-New Zealand Bilateral Defence Talks อย่างสม่ำเสมอ และนิวซีแลนด์ให้การสนับสนุนไทยผ่านโครงการ Mutual Assistance Programme(MAP) มาตั้งแต่ปี 2521 ซึ่งนิวซีแลนด์ยืนยันสนับสนุนไทยผ่านโครงการนี้ต่อไป รวมทั้งเห็นพ้องขยายความร่วมมือผ่านข้อตกลงว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การพัฒนาความร่วมมือของตำรวจระหว่างกัน และความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคล(capacity building) โดยเฉพาะด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่นิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญ

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า ไทยและนิวซีแลนด์มีความสำเร็จในการส่งเสริมการค้าระหว่างกัน ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจาก กลไกความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น(Closer Economic Partnership-CEP) ซึ่งทำให้ปริมาณการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวหลังการจัดทำความตกลงดังกล่าวเมื่อปี 2548 อีกทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีในด้านต่างๆ มีความคืบหน้าอย่างมาก

ความร่วมมือด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารและการเกษตร ที่ต้องการให้มีการผลักดันความร่วมมือในฐานะที่ทั้งไทยและนิวซีแลนด์ล้วนเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก และนิวซีแลนด์มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการจัดการการเกษตร โดยเฉพาะด้านการบริหารสหกรณ์การเกษตรและการปศุสัตว์ ที่ฝ่ายไทยสามารถเรียนรู้จากนิวซีแลนด์ได้ ทั้งนี้ แรงงานไทยที่ทำงานในภาคการเกษตรของนิวซีแลนด์ ซึ่งนิวซีแลนด์เห็นว่าเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ และจะได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้การจัดการทางการเกษตรที่ทันสมัยไปพร้อมกับการได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยให้แรงงานไทยไปทำงานด้านการเกษตรเพิ่มขึ้นในอนาคต

ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปมาระหว่างกันจำนวนมาก โดยการบินไทยสนับสนุนเที่ยวบินตรงระหว่างสองประเทศ และนิวซีแลนด์จะพิจารณายกเว้นการตรวจลงตราให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางไทย เพื่อเพิ่มปริมาณการเดินทางไปมาระหว่างกัน และไทยกำลังพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourism) ซึ่งจะเปิดกว้างทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวชาวนิวซีแลนด์ที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

"ทั้งสองฝ่ายสามารถเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน และมั่นใจว่าภายใน 5 ปีนี้ มูลค่าการค้าสามารถเพิ่มขึ้นถึง 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยซึ่งไทยและนิวซีแลนด์จะร่วมกันหาลู่ทางความร่วมมือใหม่ๆ ด้วยการเปิดตลาดให้กับสินค้าให้หลากหลายยิ่งขึ้น การทบทวนมาตรการป้องกันพิเศษ(SSG) มาตรการป้องกันพิเศษด้านเกษตรกรรม(Special Agriculture Safeguards) และการผ่อนปรนข้อกำหนดมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช(SPSs) ที่ทำให้ไทยและนิวซีแลนด์สามารถเข้าถึงตลาดระหว่างกันได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาแซลมอนไปนิวซีแลนด์ได้ ไทยและนิวซีแลนด์จะร่วมสนับสนุนภาคเอกชนของทั้งสองประเทศในการแสวงหาลู่ทางเศรษฐกิจ และการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน" นายสุรนันทน์ กล่าว

ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรได้ยืนยันถึงเสถียรภาพทางการเมืองและพลวัตรเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของไทย รวมทั้งการดำเนินยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศ และการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง โดยมีแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง อาทิ โครงการบริหารจัดการระบบน้ำ และรถไฟความเร็วสูง และความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน(connectivity) ซึ่งโครงการลงทุนเหล่านี้จะเอื้อโอกาสการค้าและการลงทุนของนิวซีแลนด์ในประเทศไทย อีกทั้งการขยายเครือข่ายการค้าและการลงทุนของไทยในนิวซีแลนด์อีกด้วย ซึ่งการเยือนครั้งนี้มีภาคเอกชนไทยในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น อาหาร สินค้าเกษตร การท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมคณะ เพื่อสร้างเครือข่ายและแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชนนิวซีแลนด์ด้วย

นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ยินดีเป็นประตูสู่ภูมิภาคแปซิฟิกใต้ และประตูสู่เชื่อมต่อไปยังภูมิภาคลาตินอเมริกาต่อไป ความร่วมมือด้านการศึกษา มีการหารือถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และเห็นว่า การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญของการติดต่อระหว่างกัน โดยเฉพาะเยาวชนไทยที่สนใจมาศึกษาที่นิวซีแลนด์จำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานด้านการศึกษาของสองประเทศถือว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือนี้ และนิวซีแลนด์ได้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับครูผู้สอนของไทย รวมทั้งการฝึกอบรมภาษาอังกฤษ ในครั้งนี้ จึงมีการลงนามข้อตกลงด้านการศึกษา โดยเฉพาะสาขาความร่วมมือใหม่ด้านอาชีวศึกษา ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือนี้ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เชิญนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2556 นี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีทั้งสองร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงจำนวน 2 ฉบับ คือ ร่างแถลงการณ์ร่วมหุ้นส่วนการศึกษาไทย- นิวซีแลนด์ ซึ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่และนักศึกษา ความร่วมมือระหว่างสถาบัน และพัฒนาการอบรมในระดับต่างๆ รวมทั้งอาชีวะศึกษา และร่างหนังสือแสดงความจำนงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย-นิวซีแลนด์ ก่อนจะร่วมแถลงข่าวถึงความสำเร็จของการหารือทวิภาคี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ