(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจ ก.พ.ชะลอลงจากเดือนก่อนตามจำนวนวันทำการน้อย-ปัญหาวัตถุดิบ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 29, 2013 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.พ.56 ด้านการใช้จ่ายภาคเอกชน การส่งออก และการผลิต ภาคอุตสาหกรรมชะลอลงจากเดือนก่อนหลังจากที่ขยายตัวดีในช่วงก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลชั่วคราวจากจำนวนวันทำการที่น้อยและปัญหาวัตถุดิบในการผลิต อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากเดือนก่อนและดุลการชำระเงินเกินดุล

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนนี้ยังใช้การเปรียบเทียบกับข้อมูลในเดือนก่อนหน้า (ปรับฤดูกาล)เพื่อให้สามารถสะท้อนแรงส่งของเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่าการเปรียบเทียบกับข้อมูลของเดือนเดียวกันปีก่อนที่ยังผิดปกติจากผลของอุทกภัย

ธปท.ระบุว่า การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อนหลังจากที่เร่งขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อน ตามการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งสินค้าคงทนและไม่คงทน สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการนำเข้าที่ลดลง อย่างไรก็ดี การจัดเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่มโดยรวมยังขยายตัวและการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 2.4 จากเดือนก่อน จากการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามการนำเข้าสินค้าทุน และการลงทุนหมวดก่อสร้างตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างพาณิชยกรรม ขณะที่การลงทุนในเครื่องจักรในประเทศและรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังขยายตัวได้

การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 17,766 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 3.4 จากเดือนก่อนตามการส่งออกสินค้าเกษตรจากปัญหาวัตถุดิบจากโรคระบาดในกุ้ง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อุปสงค์จากต่างประเทศยังไม่เข้มแข็ง ประกอบกับการส่งออกยานยนต์ที่ลดลงเนื่องจากผู้ผลิตยังเน้นส่งมอบในประเทศก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นตามความต้องการจากอาเซียนและตะวันออกกลาง

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 2.3ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย และรัสเซีย

อุปสงค์ในประเทศและการส่งออกชะลอลงสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าสินค้าที่ลดลง ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 1.4 จากเดือนก่อนตามการผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากปัญหาวัตถุดิบโดยเฉพาะอ้อยและกุ้ง การผลิตยานยนต์จากวันทำการที่น้อย แม้จะมีการผลิตเต็มกำลังการผลิต ต่อเนื่องจากเดือนก่อน และการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบที่อุปสงค์จากต่างประเทศยังซบเซา

ด้านการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 17,191 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 8.9 จากเดือนก่อน จากการนำเข้าในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะเชื้อเพลิงและสินค้าทุน

แม้การใช้จ่ายชะลอลงบ้างแต่รายได้ของประชาชนยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามการจ้างงานที่ขยายตัวและรายได้เกษตรกรที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้จะหดตัวจากเดือนก่อนตามราคาที่ลดลง โดยเฉพาะราคายางพาราที่จีนชะลอการสั่งซื้อหลังจากที่เร่งสะสมสต็อกก่อนหยุดยาวในช่วงเทศกาลตรุษจีน ขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวจากเดือนก่อนจากผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นตามการขยายพื้นที่เพาะปลูกเมื่อหลายปีก่อน

รายจ่ายรัฐบาลชะลอลงตามรายจ่ายเงินอุดหนุนที่ได้เร่งโอนให้กับกองทุนนอกงบประมาณไปมากในช่วงก่อนหน้า ขณะที่รายได้ชะลอลงเช่นกันสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี รายจ่ายที่มากกว่ารายได้ส่งผลให้ดุลเงินในงบประมาณขาดดุล แต่เมื่อรวมกับการเกินดุลเงินนอกงบประมาณ ทำให้ รัฐบาลเกินดุลเงินสด 1.5 พันล้านบาท

ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 3.23 จากการชะลอลงของราคาพลังงานและราคาอาหารสดตามราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น สำหรับดุลการชำระเงินเกินดุลตามการไหลเข้าสุทธิของเงินทุนเคลื่อนย้ายจากการกู้ยืมเงินระยะสั้นของสถาบันการเงินเพื่อบริหารสภาพคล่องของธุรกรรมเงินตราต่างประเทศและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ