เรคกูเลเตอร์ คาด Ft ปีนี้ไม่เพิ่ม แม้อากาศร้อนจัด ผลจากเงินบาทแข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 2, 2013 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือเรคกูเลเตอร์ คาดปีนี้จะไม่มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า แม้อากาศร้อนจนส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดทำลายสถิติไปแล้ว แต่กังวลหากไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดได้ ในอนาคตค่าไฟฟ้าอาจปรับตัวขึ้นถึง 5 บาทต่อหน่วย

"ภายในเดือนนี้จะพิจารณาอัตราค่าเอฟที(ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ) งวดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม เบื้องต้นคาดว่าค่าเอฟทีตลอดปีนี้จะไม่เพิ่มขึ้น แม้ในช่วงฤดูร้อนมีนี้สภาพอากาศจะร้อนจัด และมีแนวโน้มพีค(การใช้ไฟฟ้าสูงสุด) หลายครั้ง ซึ่งเป็นผลจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่ราคาเชื้อเพลิงก็ยังอยู่ในระดับที่ทรงตัว" นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธาน กกพ.กล่าว

ส่วนกรณีที่ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) คาดการณ์ว่า อัตราค่าไฟฟ้าของไทยในอีก 4 ปีข้างหน้า อาจเพิ่มขึ้นเป็น 5 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันอยู่ที่ 3 บาท 76 สตางค์ต่อหน่วย หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง จากที่ปัจจุบันพึ่งพาก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละ 70 และจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ที่มีราคาสูงขึ้น เพราะก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอ

ประธาน กกพ.กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสะอาด ซึ่งหากฝ่ายผู้ผลิตสามารถผลักดันโครงการ และเริ่มสร้างได้ กกพ.ก็จะเร่งเข้าไปจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เพื่อเป็นเงินที่โรงไฟฟ้าจะต้องจ่าย เพื่อนำมาพัฒนาชุมชนใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน 2 สตางค์ต่อหน่วย ขณะที่จัดเก็บจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 1 สตางค์ต่อหน่วย แต่มองว่า ยังไม่มีความจำเป็นในการเพิ่มอัตราการเก็บเงินจากโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดเข้ากองทุนฯ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชุมชน เพราะปัญหาการไม่ยอมรับไม่ได้มาจากเรื่องจำนวนเงิน แต่มาจากความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในชุมชนใกล้เคียงโรงไฟฟ้ามากกว่า

ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดวันนี้ (2 เม.ย.56) พุ่งถึง 26,305.8 เมกะวัตต์ โดยอุณหภูมิตอนบ่าย สูงถึง 38.4 องศาเซลเซียส ซึ่งยอดการใช้ไฟฟ้าเกือบทะลุพีคครั้งล่าสุดที่อยู่ที่ 26,430 เมกะวัตต์เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ