(เพิ่มเติม) ประธาน TDRI เชื่อเอกชนไทยพร้อมรับ AEC แนะรัฐเร่งเจรจาเพื่อนบ้านขจัดอุปสรรค

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 22, 2013 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ "ความท้าทายโอกาส และการพัฒนาประเทศไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)" ว่า ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคธุรกิจไทยมีความพร้อมมากที่สุดในการก้าวเข้าสู่ AEC เพียงแต่ว่าข้อมูลของภาคธุรกิจที่ได้รับนั้นยังไม่ถูกต้องเท่าที่ควร เพราะเป็นการเข้าใจในแง่ลบว่า AEC จะเป็นการเปิดเสรีต่างๆ มากมาย
"การเจรจาในกรอบ AEC ถือว่ายังไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากมายที่เกิดผลกับภาคธุรกิจไทย ซึ่ง AEC ที่มีความสำคัญต่อธุรกิจไทยคือ AEC ที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติไม่ใช่ประชาคมอาเซียนที่มีการตกลงกันในกระดาษ" นายสมเกียรติ กล่าว

โดยธุรกิจที่มีความพร้อมคือ ธุรกิจที่เป็นบริษัทจดทะเบียน 100 แห่งที่มีบริษัทลูกและเปิดสาขาอยู่ในอาเซียนเกินกว่า 200 กิจการ ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน ค้าปลีก โรงแรม ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ซึ่งมองว่าธุรกิจไทยเหล่านี้มีความพร้อมพอสมควร แต่ต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจาก AEC ประกอบกับหน่วยงานที่ส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ก็จะต้องปรับแนวการส่งเสริมการลงทุนจากเดิมส่งเสริมแค่ให้มีการลงทุนขาเข้า ซึ่งต้องเปลี่ยนให้มีการลงทุนขาออกด้วย พร้อมส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงกันระหว่างธุรกิจที่ไปลงทุนต่างประเทศกับธุรกิจที่ยังอยู่ในประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้รัฐบาลควรไปเจรจากับประเทศในอาเซียนให้มีการทำอนุสัญญาภาษีซ้ำซ้อน เพื่อให้ธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศแล้วไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน ซึ่งก็มีประเทศที่จะต้องไปเจรจาดังกล่าว คือ กัมพูชา โดยกัมพูชาจะเป็นประเทศเป้าหมายของนักธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณี ที่อาจจะมีการขยับไปลงทุน รวมถึงการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง GMS ด้วย ซึ่งยังไม่มีความพร้อมมากนักในหลายๆ เรื่อง เช่น การคุ้มครองการลงทุนจากไทยที่รัฐควรให้การสนับสนุนและเร่งในการเชื่อมโยงธุรกิจเข้าด้วยกัน ทั้งการเชื่อมโยงทางกายภาพ เช่น เรื่องของถนน รถไฟที่ใช้ขนส่งสินค้าที่สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมกัน โดยเฉพาะเรื่องของกฎระเบียบกระบวนการศุลกากรการเข้าออกด่านให้มีความสะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ตามเกียวกับโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น มองว่าเป็นโครงการที่มีความพร้อมและมีความจำเป็น โดยเฉพาะโครงการรถไฟรางคู่ถือเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งทางบกของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โครงการเหล่านี้จึงเป็นโครงการที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น แต่ยังคงมีบางโครงการที่ยังไม่มีความชัดเจนอีกมาก เช่น รถไฟความเร็วสูง ที่มีมูลค่าโครงการรวม 9 แสนล้านบาท ส่วนนี้จึงต้องเร่งทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อน ไม่ควรปล่อยให้ขาดทุนในภายหลัง

ประธาน TDRI มองว่าหลายคนยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 เช่น ความเข้าใจผิดว่าประเทศไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เช่น การเปิดเสรีอย่างเต็มที่ในภาคการค้า ภาคบริการ และการลงทุน รวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานทุกประเภทได้อย่างเสรี ซึ่งในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยได้ทยอยเปิดเสรีการค้ามาตั้งแต่ปี 36 ตามกรอบของ AFTA และเกือบจะถือว่าเสร็จสมบูรณ์ตามข้อตกลงแล้ว ขณะที่การเปิดเสรีภาคบริการ และการลงทุนยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก ส่วนการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรีนั้น ข้อเท็จจริงแล้วจะมีเฉพาะ 8 สาขาเท่านั้น คือ แพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี, นักสำรวจ และนักวิชาชีพท่องเที่ยว

"จากการเปิด AEC นั้น บางทีเราไม่ใช่แค่ตื่นตัว แต่ตื่นตระหนกในเรื่องที่ไม่ควรตื่นตระหนก และกลับไม่ตื่นตัวในเรื่องที่ควรตื่นตัว" นายสมเกียรติ ระบุ

ขณะเดียวกันเห็นว่าประเทศไทยควรใช้โอกาสจากการที่จะเข้าร่วม AEC โดยใช้ประเทศใน AEC เป็นฐานการผลิตเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งการที่ตลาดอาเซียนรวมกันเป็นหนึ่งเดียวนี้จะทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่และมีความน่าสนใจที่จะดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนในภูมิภาคอื่นๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยถือว่าได้ประโยชน์มากสุดประเทศหนึ่งในอาเซียนจากการเข้าร่วม AEC เนื่องจากมีภูมิประเทศที่เป็นศูนย์กลางของการเชื่อมต่อในภูมิภาค และมีถึง 33 จังหวัดที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้นความท้าทายของประเทศไทยที่จำเป็นจะต้องดำเนินการ คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและกฎระเบียบเพื่อรองรับการวมกลุ่มในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการลดอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร และยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTB) ขณะเดียวกันจะต้องเปิดเสรีสำหรับธุรกิจในสาขาที่ไทยยังมีการผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด รวมทั้งการปรับปรุงพิธีการศุลกากร การตรวจสอบกักกันโรคให้เป็นระบบ Single Window และสร้างความเสมอภาคในการพัฒนาในภูมิภาคและกระจายประโยชน์ให้เป็นธรรม เช่น การช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้รนสังคม การเงิน และด้านเทคนิค ที่สำคัญต้องปรับทัศนคติของไทยเสียใหม่ว่าเพื่อนบ้านไม่ใช่ศัตรู และประเทศไทยไม่ได้เหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ