(เพิ่มเติม) นักวิชาการห่วงรัฐบาลแบกภาระหนี้จากโครงการ 2 ล้านลบ. แนะเลิกประชานิยม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 24, 2013 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มุมมองนักวิชาการ-อดีตรมว.คลัง-เอกชน มองโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เน้นไปที่ระบบราง ยังไม่คุ้มค่าการลงทุน ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และไม่เกิดประโยชน์ หากรัฐไม่เร่งแก้ปัยหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งเกรงว่าหากมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบอาจก่อให้เกิดผลเหมือนวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรป

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวในงานสัมมนา “โครงการ 2 ล้านล้านกับอนาคตประเทศไทย" ว่า เป็นห่วงควาเสี่ยงในเรื่องภาระหนี้จากโครงการ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากโครงการดังกล่าวใช้เงินลงทุนมูลค่ามหาศาล ทำให้เพิ่มหนี้สาธารณะที่จะเป็นภาระต่องบประมาณของประเทศในอนาคต ซึ่งจากการนำเสนอตัวเลขตามที่กระทรวงการคลังรายงานนั้น บ่อยครั้งจะพบในข่าวว่าหากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงเกิน 60% ประเทศไทยจะเกิดวิกฤตทางการคลัง

"ตนมองว่าสิ่งที่จะสื่อว่าประเทศจะเกิดวิกฤตดังกล่าวได้นั้นไม่ใช่สัดส่วนของภาระหนี้ แต่เป็นความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องดูคือภาระหนี้ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลมากกว่า"นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ของประเทศไทยยังไม่น่าเป็นห่วง แต่สิ่งที่ควรระวังคือภาระหนี้อาจเพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินนโยบายประชานิยม ที่ในอนาคตไทยจะมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอ เนื่องจากมีภาระหนี้สูงขึ้น ส่งผลให้เหลืองบประมาณที่จะนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆน้อยลง และอยู่ในภาวะเสี่ยงหากอัตราดอกเบี้ยในอนาคตสูงขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อมีการกู้เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท จะต้องดำเนินการ 2 กระบวนการ คือ 1. ต้องลงทุนให้ถูกที่ ในด้านที่ประเทศมีความต้องการ เช่น ด้านนวัตกรรมและพลังงาน แต่กลับไม่ได้ความสำคัญเท่าใดนัก แต่การลงทุนในโครงสร้าง 2 ล้านล้านบาทนั้นเป็นการลงทุนในเรื่องของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ยกตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่ใช้งบประมาณในการสร้างสูงถึง 170,450 ล้านบาท มีผู้โดยสารที่ใช้บริการโดยเฉลี่ย 41,000 วัน แต่เมื่อเทียบกับการสร้างสถานีขนส่ง กรุงเทพฯ-สายเหนือ/ตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ใช้งบประมาณแค่ 1,800 ล้านบาท จะขนส่งผู้โดยสารได้ 91,000 วันเท่านั้น หรืออย่างโครงการ Airport link ที่เป็นหนึ่งในบทเรียนที่ทำให้เห็นถึงการประเมินความคุ้มค่าการลงทุนที่ผิดพลาด เพราะคาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารจำนวนมากเกินความจริงเป็น 10 เท่า

อีกประการ คือ ต้องลงทุนให้ถูกวิธี โดยต้องดำเนินการ วิเคราะห์เพื่อจัดสรรงบประมาณ เช่น โครงการของ California High Speed Rail ที่มีการเปิดเผยกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน แต่สำหรับโครงการขนาดใหญ่ของไทยไม่มีรายละเอียดเผยต่อสาธารณะเลย ประกอบกับการติดตาม ต้องไม่เป็นเพียงสิ่งที่บอกความก้าวหน้าของโครงการเท่านั้นแต่ต้องมีการระบุชื่อผู้รับผิดชอบ ต้องระบุสาเหตุของความล่าช้าด้วย และการประเมินผล ต้องให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุดโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาประเมิน และระบุชื่อผู้รับผิดชอบการประเมินหลังโครงการที่เสร็จสิ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอให้รัฐบาลควรทำเพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังของประเทศ คือ 1. ควรเลิกนโยบายประชานิยมในแบบไม่จำกัดวงเงินงบประมาณ 2.ควรบริหารจัดการเงินลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐควรจะลดขนาดการกู้ยืมลงและชำระเงินต้นให้มากขึ้น 3. ควรมีการบริหารจัดการที่ชัดเจน ต้องกำหนดว่าหน่วยงานใดจะทำหน้าที่บริหารและวิธีการบริหารอย่างไร 4. ต้องมีระบบตรวจสอบและประเมินผลสำหรับโครงการภาครัฐที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ และ 5. ต้องสร้างกลไกความรับผิดชอบที่ชัดเจน มีผู้รับผิดชอบและกลไกที่มีประสิทธิภาพในการนำผู้ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษ เมื่อเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะจากเจตนาทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานสถาบันอนาคตไทยศึกษา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ โดยเห็นว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบรางยังไม่ใช่ปัจจัยที่จำเป็น แต่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพราะหากไม่สามารถผลิตสินค้าที่เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบันการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่เกิดประโยชน์

ทั้งนี้ เห็นว่ารัฐบาลต้องปฏิรูปด้านการเกษตร โครงสร้างการผลิตและบริการ ที่ต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และวิทยาการ ผ่านการลงทุนในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อรองรับและต่อยอดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีที่ตั้งอยู่ตรงกลาง การสร้างความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานโดยไม่มีทรัพยากรและโครงสร้างการผลิตมารองรับอาจทำให้ไทยเป็นเพียงแค่ทางผ่านในอาเซียนเท่านั้น

ดังนั้นไทยจำเป็นต้องลดความเสี่ยงในการลงทุนโดยไม่จำเป็น แต่ที่ผ่านมาหลายฝ่ายกลับกังวลในการดำเนินการที่ไม่มีความโปร่งใส เพราะมองว่าปัจจัยในการพิจารณาการลงทุนของรัฐบาลในครั้งนี้อยู่ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือตัวเลข GDP และงบประมาณเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา GDP ของไทยไม่ได้เติบโตจากผลิตภาพหรือคุณภาพการผลิตจริงๆ

นายสมคิด กล่าวว่า กระทรวงการคลังต้องปฏิรูประบบการคลัง ไม่ใช่การไปปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อดึงดูดให้เอกชนลงทุน แต่ควรปฏิรูประบบภาษีและการเบิกจ่ายระบบงบประมาณ นอกจากนี้ความเชื่อมั่นต่อภาครัฐของสาธารณะชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากประชาชนไม่มั่นใจในบทบาทรัฐแล้ว การดำเนินการจะไม่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐต้องเร่งแจกแจงรายละเอียดออกมามากกว่าจะรวมกันเป็นเงินลงทุนใหญ่

นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง มองว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้นไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพราะการลงทุนขนาดใหญ่เช่นนี้ โดยเฉพาะในการลงทุนรถไฟความเร็วสูงกลับให้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งการขนส่งระบบรางนั้นประชาชนควรต้องเข้าถึงได้ทุกชนชั้น แต่สำหรับรถไฟฟ้าความเร็วสูงแล้วผู้มีรายได้น้อยคงไม่สามารถมีโอกาสเข้าถึงได้ พร้อมกันนี้ยังไม่เห็นด้วยในบทบาทของกระทรวงการคลังจากเดิมที่จะคอยตรวจสอบดูแลความเหมาะสมในเรื่องบประมาณของโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ปัจจุบันกลับมีหน้าเพียงหาแหล่งเงินเพื่อมาดำเนินโครงการต่างๆ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

นายอิสสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า การบริหารจัดการโครงการมีความสำคัญมากกว่าการลงทุน รัฐไม่ความทุ่มงบประมาณไปการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะระบบรางเพื่อขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งยังไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนในระยะนี้ เพราะไม่คุ้มค่าหากช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้เพียง 2% เท่านั้น อีกทั้งปัจจุบันระบบขนส่งทางเลือกอื่นก็มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงมองว่ารัฐควรเข้าไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการขนส่งสินค้าและชลประทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจะมีความเหมาะสมและคุ้มค่ากว่า

พร้อมแนะว่า รัฐบาลควรจะเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากรและเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดการลงทุน ไม่ใช่เป็นเพียงการซื้ออุปกรณ์เท่านั้น เพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการในระยะยาว นอกจากนี้รัฐบาลควรเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลโครงการลงทุนทั้งหมดต่อสาธารณชน เพื่อให้สามารถตรวจสอบ และป้องกันการเกิดการทุจริตในทุกขั้นตอน

ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร กล่าวว่า มีวิธีการระดมทุนแบบอื่นที่ดีกว่าลงทุนระยะยาว 50 ปีเช่นนี้ คือ การให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบรรเทาภาระหนี้สาธารณะของประเทศ ช่วยให้มีประสิทธิภาพในการลงทุนและการบริหารจัดการ อีกทั้งยังก่อให้เกิดความโปร่งใส โดยสามารถทำได้ตั้งแต่การให้สัมปทานหรือการลงทุนร่วมเอกชนและภาครัฐ เช่นให้รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วให้เอกชนเข้าไปดำเนินการ หรือการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

ส่วนเงินสำรองต่างประเทศที่มีอยู่ราว 2 แสนล้านบาทนั้น มาจากภาคเอกชนและประชาชนทั้งสิ้น และในตลาดหุ้น 1 แสนล้านเหรียญ และในตลาดตราสารหนี้ราว 4 แสนล้านเหรียญด้วย จึงมองว่ารัฐบาลมีช่องทางการระดมทุนที่หลากหลาย โดยที่ผ่านมาโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่เกิดขึ้นในไทย คือ การลงทุนที่มีต้นทุนและผลตอบแทนแน่นอน การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะต้น และการลงทุนที่ต้องใช้อำนาจรัฐอย่างมาก

นอกจากนี้ ต้องมองให้ลึกว่าจะทำให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันมากน้อยเพียงใด เพราะยังมีโครงการอื่นที่น่าสนใจกว่านี้ ซึ่งในระยะนี้การประเมินความคุ้มค่าในโครงการรัฐบาลไทยไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ เช่น โครงการแอร์พอร์ต เรลลิ้งค์ ที่ประเมินจำนวนผู้โดยสารสูงเกินจริงถึง 10 เท่า โดยการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจะต้องมองออกไปนอกจากความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ และต้องให้เอกชนมีส่วนร่วมในการประเมินความคุ้มค่า

ส่วนความกังวลในการลงทุนครั้งนี้ มองว่า หากมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ จากภายนอกเข้ามากระทบ จะส่งผลรุนแรงกว่าในช่วงปี 2540 ที่เกิดจากการลงทุนภาคเอกชน เพราะการลงทุน 2 ล้านล้านบาทนี้เป็นการลงทุนภาครัฐในระยะยาว ซึ่งเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นจะมีเครื่องมือมาแก้ไขปัญหาได้จำกัด และอาจส่งผลร้ายแรงเหมือนกับวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรป


แท็ก ประชานิยม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ