เอกชน 4 กลุ่มยื่นประมูลโครงการน้ำ คาดสรุปราคา-เสนอครม.ในมิ.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 3, 2013 18:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้มีบริษัทที่ยื่นซองเอกสารข้อเสนอทางเทคนิคและราคาทั้งสิ้น 4 บริษัท ประกอบด้วย

1.บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น(K-Water) ยื่นซองประมูลข้อเสนอ 9 โมดูล วงเงิน 2.91 แสนล้านบาท

2.ITD-POWERCHINA JV ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ (ITD) กับบริษัท พาวเวอร์ ไชน่า ของประเทศจีนยื่นซองประมูลข้อเสนอ 9 โมดูล วงเงิน 2.91 แสนล้านบาท

3.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที ยื่นซองประมูลข้อเสนอ 1 โมดูล วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท

4. กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเลย์ (LOXLEY) ยื่นซองประมูลข้อเสนอ 1 โมดูล วงเงิน 4 พันล้านบาท

ในขณะที่เมื่อปลายเดือนเม.ย.56 กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย ได้ถอนตัวออกไปเนื่องจากไม่มีความพร้อมในการทำงานดังกล่าว และวันนี้กิจการร่วมค้ากลุ่มทีมไทยแลนด์ก็ได้สละสิทธิ์ในการยื่นข้อเสนอ เนื่องจากไม่สามารถดำเนินงานในวงเงินที่กำหนดได้

นายธงทอง กล่าวว่า เอกสารทั้งหมดมีจำนวน 2,179 กล่อง แบ่งเป็น ต้นฉบับ 105 กล่อง และสำเนา 2,014 กล่อง โดยจะเก็บเอกสารและสำเนาที่บริเวณโรงยิมเนเซียม ซึ่งได้มีการติดกล้องวงจรปิดและฉีดน้ำยาป้องกันปลวกไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีตัวแทนจากองค์กรต่างๆ เช่นกระทรวงฯ ทบวง กรม อาจารย์จากสถาบันการศึกษาและนักวิชาการทั้งหมด 50 คน เป็นผู้พิจารณารายละเอียดต่างๆ จากสำเนาเอกสารทั้งหมด ขณะเดียวกันจะมีคณะกรรมการ 1 ชุดตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อทำงานขนานกัน โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ หรือคาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ภายเดือน พ.ค.นี้

“หวังว่าช่วงประมาณปลายเดือน พ.ค. ไม่เกินต้นเดือน มิ.ย.นี้จะสามารถรายงานไปทาง กบอ. และคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยที่การเซ็นสัญญายังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากจะต้องนำข้อเสนอทางเทคนิคที่มีการเจรจาต่อรองนำไปร่างเป็นสัญญาอีกครั้ง ซึ่งจะดำเนินการในช่วงเดือน มิ.ย.ต่อไป” นายธงทอง ระบุ

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาในการให้คะแนนแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.แนวคิด 20% 2.เทคนิค 60% และ 3.ประสบการณ์ 20% รวมเป็น 100 คะแนน โดยบริษัทที่ได้รับการพิจาณาเกิน 80 % จะได้รับการพิจารณาเสนอเรื่องราคา ซึ่งซองราคาจะยังไม่ถูกเปิดจนกว่าจะพิจารณาด้านเทคนิคเสร็จสิ้น ส่วนบริษัทที่มีคะแนนไม่ถึง 80% ถือว่าสอบตกจะไม่มีการพิจารณาในเรื่องราคาต่อไป

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทที่มีคะแนนสูงสุดจะได้สิทธิในการเปิดซองราคาก่อนตามลำดับ และจะมีการเจรจาในเรื่องของราคาและรายละเอียดด้วย โดยขั้นตอนนี้สามารถยืดหยุ่นได้ ซึ่งจะนำไปสู่ขั้นตอนในการร่างสัญญาต่อไป ทั้งนี้การเจรจาต่อรองคาดว่าจะใช้เวลาประมาณปลายเดือน พ.ค.-มิ.ย.น่าจะเสร็จสิ้น และจะมีการรายงานต่อคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) และนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป

อย่างไรก็ดี โครงการทั้ง 9 โมดูลนั้น พบว่า แต่ละโมดูลยังมีผู้เสนอซองเทคนิคและราคาไม่ต่ำกว่า 2 รายในทุกโมดูล โดยในโมดูลที่ 6 และ 8 ได้มีผู้ยื่นเอกสารจำนวน 3 ราย ส่วนอีก 7 โมดูลที่เหลือมีผู้ยื่นเอกสาร 2 ราย คือ K-Waterกับ ITD POWER CHINA JV ซึ่งก็ไม่ขัดข้อกำหนดของคณะกรรมการฯ เพราะตามข้อกำหนดแม้ว่าจะเหลือรายเดียวก็ยังพิจารณาต่อไปได้

ส่วนกรณีการถอนตัวของ 2 กลุ่มบริษัทจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินโครงการหรือไม่นั้น นายธงทอง กล่าวว่า คงไม่มี เพราะผู้ที่ถอนตัวก็ให้เหตุผลว่าไม่สามารถทำได้ตามเพดานงบประมาณที่ได้กำหนดไว้ แต่ในเมื่อก็ยังมีผู้เข้ามายื่นข้อเสนอก็แสดงว่า โครงการเหล่านี้ยังมีความเป็นไปได้ ก็อยู่ที่วิธีคิดของแต่ละบริษัท แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่รัฐบาลได้บอกกับสาธารณชนเป็นเรื่องความฝัน ยังมีผู้ที่สามารถทำได้จริงอยู่

ด้านนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการ สำนักนโยบายบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.) ยืนยันว่า การพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่ได้รับงานในแต่ละโมดูลจะไม่มีการล๊อคสเปคเกิดขึ้นแน่นอน แม้ว่าบางโมดูลจะเหลือบริษัทแข่งขันเพียง 2 บริษัทเท่านั้น ส่วนความกังวลที่อาจจะเกิดการทิ้งงานในระหว่างการก่อสร้างนั้น มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น เพราะในทีโออาร์ได้กำหนดหลักประกัน 5% ของทุกบริษัทที่ต้องจ่ายหากเกิดปัญหาการทิ้งงาน รวมไปถึงกรณีที่เกิดปัญหาความล้าช้าในการก่อสร้างของแต่ละโครงการ ก็ได้มีการกำหนดอัตราค่าปรับตามสัญญา ซึ่งในส่วนของการก่อสร้างกำหนดค่าปรับต่อวันโดยคิดในอัตรา 0.05% ของมูลค่าโครงการที่บริษัทได้รับผิดชอบในงานด้านนั้นๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ