ทั้งนี้ แนวโน้มการใช้พลังงานของโลกในปี 2035 จะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 35 ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานในภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 โดยการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยประเมินว่าจะเติบโต 70,000 MW จาก 30,000 MW เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการปฏิวัติเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นความท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการพลังงานของไทย เช่น ก๊าซ ถ่านหิน น้ำมัน และ นิวเคลียร์ รวมถึงมาตรฐานการทำงาน
รมว.พลังงาน กล่าวว่า เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของอาเซียนที่เติบโตสูงมาก ทางกระทรวงฯได้กำหนดนโยบายส่งเสริม /สนับสนุนการเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างความมั่นคง โดยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าและท่อส่งปิโตรเลียมในอาเซียน เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบเรื่องที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางอาเซียน และการเชื่อมโยงด้านโครงสร่างพื้นฐานพลังงานในอาเซียนจะทำให้อาเซียนเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าพลังงานที่สำคัญของโลกในอนาคต แต่ทั้งนี้จะเกิดขึ้นๆด้ต้องขึ้นอยู่กับการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียนได้
สำหรับแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี หรือพีดีพี ฉบับใหม่ ทาง กระทรวงจะยังไม่ตัดทิ้งโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 พันเมกะวัตต์ แต่จะสร้างหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนว่าจะต้องการไฟฟ้าราคาถูกหรือไม่ โดยกระทรวงฯมีหน้าที่ทำความเข้าใจ ซึ่งจะมีการจัดพาสื่อมวลชน คอลัมนิสต์ นักวิชาการ นักอุตสาหกรรมไปดูงานที่ฝรั่งเศสตามคำเชิญของไออีเอในขณะเดียวกันการใช้เชื้อเพลิงของประเทศไทยจะมีการกระจายสัดส่วนที่เหมาะสม เน้นเรื่องพลังงานทดแทนและการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ส่งเสริมการติดบนหลังคาบ้านคาดผลการศึกษาเรื่องเทคโนโลยี และอัตราการอุดหนุนจะเสร็จสิ้นใน 1 เดือน