(เพิ่มเติม1) กนง.มติเอกฉันท์ลดดอกเบี้ยอาร์/พี 0.25%พร้อมปรับนโยบายสอดคล้องสถานการณ์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 29, 2013 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในการประชุมวันที่ 29 พ.ค.56 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% มาอยู่ที่ 2.50% หลังจากตรึงอัตราดอกเบี้ยมาตั้งแต่เดือน ต.ค.55 ทั้งนี้ กนง.จะติดตามข้อมูลพัฒนาการเศรษฐกิจ ความเสี่ยงเสถียรภาพการเงิน และเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมจะปรับนโยบายการเงินให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ กนง.แถลงผลการประชุม กนง.ในวันที่ 28 และ 29 พ.ค.56 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยเห็นว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจกลุ่มยูโรยังคงอ่อนแอแต่ความเสี่ยงลดลงบ้าง เศรษฐกิจจีนและเอเชียขยายตัวต่ำกว่าคาด ส่งผลให้การฟื้นตัวของการส่งออกไทยอาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มได้รับผลบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสะท้อนจากการส่งออกและการบริโภคที่ปรับดีขึ้น ในขณะที่ภาวะการเงินโลกยังมีความผันผวนสูง ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ภูมิภาคและต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/56 ขยายตัวต่ำกว่าคาดจากอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อแรงส่งของเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้ โดยเฉพาะหากมีความล่าช้าในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ด้านแนวโน้มการส่งออกก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจภูมิภาคโดยเฉพาะจีนที่ขยายตัวชะลอลง ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อน้อยลงจากปัจจัยด้านต้นทุน แต่สินเชื่อและหนี้ภาคครัวเรือนยังขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง

กนง.ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงขยายตัวเนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 1/56 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดมาก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมได้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่ภายใต้ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินที่ยังมีอยู่

ดังนั้น กนง.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.75 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ กนง.จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินรวมทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามสถานการณ์

นายไพบูลย์ กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้เป็นตัวแปรเดียวที่ กนง.พิจารณา แต่ได้ดูตัวแปรต่าง ๆ ทั้งเรื่องความเสี่ยงเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพเศรษฐกิจ ขณะที่ค่าเงินบาทคงยากจะคาดการณ์ว่าจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดแข็งค่าหรืออ่อนค่ามากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางสถานการณ์โลกไม่ปกติ มีความผันผวนสูง เงินทุนไหลเข้า-ออกค่อนข้างเร็ว

อย่างไรก็ตาม กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ค่อนข้างดีท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความสามารถการแข่งขันขยายตัวไปได้ดีพอสมควร ส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยไปยังตลาดโลก ก็เพิ่มขึ้นพอสมคร กนง.มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ถือว่าเหมาะสมและเพียงพอต่อแนวโน้มเศรษฐกิจระยะข้างหหน้า แต่หากมีตัวเลขใหม่เข้ามาไม่ว่าจะทิศทางใด กนง.ก็พร้อมจะพิจารณาปรับปรุงนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์

สำหรับแรงกดดันทางการเมืองให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า สังคมคงต้องตีความกันเอาเอง เพราะ กนง.พิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ เป็นไปตามปกติ โดยดูทุกปัจจัยทั้งภาวะเงินทุน ตลาดเงิน การบริโภค การลงทุน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยนิ่งมานาน หลังจากปรับลดลงครั้งสุดท้ายตั้งแต่เดือน ต.ค.55 ขณะที่ประเทศจี 3 ก็ใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำมานานแล้ว

“การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ กนง.ได้ดูแนวโน้มในระยะข้างหน้าว่าเหมาะสมและเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในระยะต่อไป ภายใต้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ที่ขณะนี้มองว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นจากครั้งก่อน สอดคล้องกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่มีความเสี่ยงลดลง จึงมีพื้นที่เพียงพอที่นโยบายการเงินจะสามารถผ่อนคลายเพื่อรองรับและดูแลความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจได้"นายไพบูลย์ กล่าว

ส่วนการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น ขึ้นอยู่กับกลไกตลาด ธปท.ไม่ได้บังคับให้ดอกเบี้ยในตลาดต้องปรับตาม แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างธุรกิจธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง รวมถึงต้นทุน ความสามารถในการปรับตัว และภาวะการแข่งขันในตลาด จึงคาดเดาไม่ได้ว่าดอกเบี้ยในตลาดจะสนองตามดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ต้องติดตามต่อไป

ด้านข้อกังวลว่าหากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า ยังคงเป็นประเด็นที่ กนง.ให้ความสำคัญ ห่วงใยและติดตามอย่างใกล้ชิดไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่ง กนง.ได้ชั่งน้ำหนักวัตถุประสงค์ทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพเศรษฐกิจ เสถียรภาพการเงิน ได้แก่ หนี้สินภาคเอกชน หนี้สินภาคครัวเรือน และการเร่งตัวขึ้นของราคาสินทรัพย์ เพื่อพิจารณาดูว่าความเสี่ยงด้านไหนจะต้องใช้นโยบายใดเข้ามาดูแล

“กนง.เห็นว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหมาะสมและเพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจ ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อก็ลดลงไปมาก แต่ยอมรับว่าหนี้สินภาคครัวเรือนยังต้องติดตาม"นายไพบูลย์ กล่ว

สำหรับการตั้งข้อสังเกตในประเด็นที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีความแตกต่างจากตัวเลขที่ ธปท.คาดไว้นั้น กนง.ดูเครื่องชี้เศรษฐกิจที่มีอยู่ทุกด้าน เพื่อประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามาประกอบการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงิน เป็นเป้าหมายหลักมากกว่า

ส่วนที่ถามว่าการปรับลดดอกเบี้ยลงครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงกระตุ้นจากการดำเนินนโยบายการคลังไม่เพียงพอหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจจะมีแรงกระตุ้นเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งหากรัฐบาลสามารถผลักดันการลงทุนและเบิกจ่ายไปได้ตามเป้าหมาย เศรษฐกิจก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่หากการลงทุนและเบิกจ่ายมีความล่าช้า ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ