(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุเศรษฐกิจ เม.ย.ชะลอลง เหตุส่งออกฟื้นตัวช้าตามศก.ประเทศคู่ค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 31, 2013 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือน เม.ย.56 ชะลอลงตามการใช้จ่ายภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกโดยรวมยังฟื้นตัวช้าจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับการผลิตของอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และเมื่อประกอบกับปัจจัยชั่วคราวที่ผู้ผลิตในบางอุตสาหกรรมลดระดับการผลิตลงมากกว่าปกติตามนโยบายลดการใช้พลังงาน รวมทั้งประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมจึงหดตัว สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีต่อเนื่อง

สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราเงินเฟ้อชะลอลง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ส่วนดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลจากการกู้ยืมเงินระยะสั้นของสถาบันการเงินเพื่อบริหารสภาพคล่องของธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ และการเข้ามาลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศ

"การส่งออกในเดือนเม.ย.ฟื้นตัวอย่างข้าๆ โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออกก็ค่อยๆ ฟื้นตัวในทิศทางเดียวกัน ประเทศคู่ค้ายังไม่ฟื้นเร็วอย่างที่คาดไว้ ประกอบกับปัจจัยพิเศษคือภาคการเกษตรและประมงมติดลบต่อเนื่อง ส่วนความต้องการในตลาดโลกสะท้อนว่าภาคอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังขยายตัวไม่ดีนัก"นายไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอลง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 1.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์หลังจากที่เร่งไปมากในปีก่อน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ผลิตเพื่อส่งออกบางส่วนชะลอการลงทุนออกไป ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวชะลอลง หลังจากที่ได้เร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า

สำหรับดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.7 ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานในปีก่อนปรับสูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์นั่งรายใหญ่กลับมาผลิตและส่งมอบได้เต็มที่หลังจากฟื้นตัวจากอุทกภัย อย่างไรก็ดี การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนยังมีแรงส่งจากปัจจัยสนับสนุนด้านรายได้และการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่หดตัวร้อยละ 7.7 จากระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งปริมาณและราคา โดยปริมาณหดตัวจากผลผลิตข้าวและมันสำปะหลังเนื่องจากปริมาณน้ำและสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย ส่วนราคาสินค้าเกษตรหดตัวตามราคายางพาราที่คำสั่งซื้อชะลอลงเนื่องจากสต็อกยางพาราของจีนยังอยู่ในระดับสูง

การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 17,251 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สะท้อนการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลก ขณะที่การส่งออกข้าว และยางพาราหดตัวจากคำสั่งซื้อที่ชะลอลง ขณะที่การส่งออกกุ้งแช่แข็งหดตัวจากการขาดแคลนกุ้ง เนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด

ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 2.1 ล้านคนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 21.6 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวเกือบทุกภูมิภาคโดยเฉพาะจีนและรัสเซีย

การลดระดับการผลิตในบางอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้พลังงานชั่วคราวในเดือนนี้ ประกอบกับปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในบางอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 3.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการหดตัวของการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ และอาหารแปรรูปแช่แข็ง ขณะที่การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัว ประกอบกับการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าเชื้อเพลิงเพื่อรองรับการผลิตที่จะเร่งขึ้น หลังโรงกลั่นชะลอการผลิตในช่วงที่ขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ และการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวตามการนำเข้าเครื่องบินของรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 18,871 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 8.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน

ภาครัฐ รายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากเงินโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกองทุนหลักประกันสุขภาพ และรายจ่ายลงทุนเพื่องานด้านชลประทานและการคมนาคม ขณะที่รายได้จัดเก็บขยายตัวจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการบริโภคในประเทศ และภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บจากการนำส่งกำไรกลับประเทศของบริษัทญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี รายจ่ายที่มากกว่ารายได้ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 47.1 พันล้านบาท

สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2.42 จากการชะลอลงของราคาพลังงานเป็นสำคัญ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล จากทั้งดุลการค้าและดุลบริการ รายได้ และเงินโอนโดยเฉพาะจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผล ส่วนดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุล 4,166 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการกู้ยืมเงินระยะสั้นของสถาบันการเงินเพื่อบริหารสภาพคล่องของธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ และการเข้ามาลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้นำตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวเพียง 3.75% ไปใช้ในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งล่าสุดแล้ว รวมทั้งจะใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงเดือน ก.ค.ด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามความเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ประกอบการ เชื่อว่าการส่งออกจะฟื้นตัวดีขึ้นช่วงครึ่งหลังของปีตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยไตรมาส 2/56 เชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะยังมีแรงส่งจากรายได้นอกภาคเกษตร และความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในเกณฑ์ดี การว่างงานต่ำ ประกอบกับปลายปีคาดว่าจะมีแรงกระตุ้นจากโครงการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งต้องติดตามการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป หลังจากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อในเดือนเม.ย.ชะลอลงมาอยู่ที่ 12.6% สะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง

ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายในเดือน เม.ย.มีเงินไหลเข้าค่อนข้างมาก และเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ โดยรวม 4,166 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดือนก่อนที่ไหลออกสุทธิ 508 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เบื้องต้นสถานะการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายเดือน พ.ค.ไม่มากเท่าเดือน เม.ย.แต่จะฟันธงว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงหรือไม่คงไม่ได้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในระยะยาวการอ่อนค่าของเงินบาทคงจะไม่ต่อเนื่องไปนานนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ