รัฐบาลแจงปมบริหารจัดการน้ำ"ธงทอง"เผยคืบหน้าเซ็นสัญญาโครงการ ต.ค.-พ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday June 15, 2013 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วันที่ 15 มิ.ย. รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายธงทอง จันทรางสุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มาพูดคุยเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวถึงโครงการบริหารจัดการโครงการน้ำ ในส่วนที่เป็นข้อกังวลของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งที่ผานมามีการหารือกับทางป.ป.ช.ว่า ทางป.ป.ช.ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ แต่ก็มีส่วนที่เราจะมาทำเพิ่มเติม คือ ข้อสัญญา การติดตามการทำงาน โดยการตรวจสอบการทำงานมีส่วนราชการอยู่แล้ว และเราจะมีส่วนร่วมกับเอกชน มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาทั้งในและต่างประเทศในการตรวจงาน มีการจ้างมหาวิทยาลัย 2 รูปแบบ คือ ตรวจงาน ตรวจงานและศึกษางาน ก็ต้องมีการคุยกัน

นายนิวัฒน์ธำรง ชี้แจงกรณีที่มีการกล่าวว่ารัฐบาลเอาเงินเป็นตัวตั้งในการทำโครงการบริหารจัดการน้ำว่า จากที่ตนเริ่มโครงการมาแต่ต้น เริ่มจากตอนทำแผนแม่บท กยน. ก็มีแผนบริหารจัดการน้ำ โดยใช้ภูมิความรู้ที่หน่วยราชการต้องทำอยู่แล้ว เอาอันนั้นมาบวกกัน เราได้แผนแม่บทต้องทำอะไรที่ไหนอย่างไร พร้อมงบประมาณแต่ต้น เรารู้เนื้อหาแต่ต้น ข้อที่สอง บริษัทต่างประเทศก็มาดูเนื้องานและเนื้อเงินก็ 3.4 แสนล้านบาทเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเรากำหนดเงินโดยคิดเอาเอง มีขั้นตอนมาอยู่แล้ว มีขั้นตอนประกวดราคาก็ได้มา ซึ่งต่ำกว่า 3.4 แสนล้านบาท

นายธงทอง กล่าวเพิ่มเติมถึงการหารือกับป.ป.ช.ว่า ข้อสังเกตจากป.ป.ช.ที่เรารับ คือ ในร่างสัญญาจะตัดจบเป็นตอนๆ เช่น ถ้าไม่ผ่านสิ่งแวดล้อมก็จบกัน แต่ละช่วงระยะสัญญาจะกำหนดว่าหากทำสิ่งนี้ไม่ได้ ก็หมดภารกิจที่บริษัทจะทำต่อ ส่วนรัฐบาลจะเดินหน้ากลไกต่อไปอย่างไรก็เป็นเรื่องของเราแล้ว ไม่เกี่ยวกับเขา หลังจากที่มีการเสนอครม.ในวันอังคารที่ 18 มิ.ย.นี้ แล้ว ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ในทันที เพราะมีรายละเอียดของร่างสัญญาที่ต้องลงรายละเอียดเรื่องถ้อยคำ ให้เข้าใจตรงกัน ใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือน คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาภายในเวลาที่บริษัทยืนราคาภายใน 180 วัน หรือประมาณปลายตุลาคมหรือต้นพฤศจิกายน แต่คิดว่าคงจะเร็วกว่านั้น ต้องอยู่ในดุลยภาพว่าไม่ช้าแต่ต้องทำให้ดีที่สุด บางอย่างเซ็นสัญญาแล้วอาจทำงานให้เป็นรูปได้เร็วกว่างานก่อสร้าง เช่น คลังข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งน่าจะเร็วกว่างานก่อสร้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ