(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจ พ.ค.ชะลอลงตามการอุปโภคบริโภคเอกชน-ส่งออกหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 28, 2013 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจในเดือน พ.ค.ชะลอลงตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่หดตัว 0.2% สอดคล้องกับการส่งออกที่หดตัว 5.1% เป็นไปตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐค่อย ๆ ทยอยสิ้นสุดลง เช่น โครงการรถคันแรก การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศที่ผ่านพ้นไปแล้ว รวมถึงการใช้จ่ายภาคครัวเรือนชะลอลงเนื่องจากภาระหนี้ที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ การลงทุนยังหดตัว 3.3% ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรที่ลดลง โดยเฉพาะการนำเข้าของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่ชะลอลงตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในต่างประเทศที่หันไปใช้แท็บเล็ตมากกว่าพีซี และอุตสากรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีฐานในปี 55 ที่ขยายตัวสูงในช่วงฟื้นฟูการผลิตหลังน้ำท่วม ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มหลายรายย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้าน การส่งออกกุ้งก็เกิดปัญหาเรื่องโรคระบาด และการปิโตรเลียมหดตัวมากจากปิดซ่อมโรงกลั่น 2 แห่ง

"เศรษฐกิจชะลอลงตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ส่วนหนึ่งเพราะครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายจากภาระหนี้ที่สูงขึ้น ประกอบกับแรงกระตุ้นจากนโยบายรัฐทยอยหมดลง ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังเปราะบางส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงตามอย่างไรก็ดีภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง"ธปท.ระบุ

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อชะลอลง ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลขณะที่ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและดุลการชำระเงินเกินดุลเล็กน้อย

ทั้งนี้ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัว 0.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลของโครงการรถยนต์คันแรกที่ได้ทยอยส่งมอบแล้วเป็นส่วนใหญ่ และการระมัดระวังการใช้จ่ายของครัวเรือน การส่งออกสินค้าลดลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังเปราะบาง ประกอบกับปัญหาด้านอุปทานจากการขาดแคลนกุ้งเนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด รวมถึงปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และผลจากฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งส่งออกหลังจากน้ำท่วมใหญ่คลี่คลายลง ส่งผลให้การส่งออกมีมูลค่า 19,494 ล้านดอลลาร์สรอ.หดตัว 5.1% จากระยะเดียวกันปีก่อนตามการส่งออกสินค้าเกษตร ประมง และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ สินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่องนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 1.9 ล้านคน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน 22.2% ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซียและรัสเซีย

การส่งออกสินค้าที่ลดลงและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัว ทำให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวและผู้ประกอบการบางส่วนชะลอการลงทุนออกไป โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว 7.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการหดตัวของการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ กุ้งแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม นอกจากนี้การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน

ขณะที่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 3.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ลดลง โดยเฉพาะจากการนำเข้าของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก ประกอบกับมีผลของฐานสูงในปีก่อนที่ผู้ประกอบการเร่งลงทุนเพื่อทดแทนความเสียหายจากมหาอุทกภัย

ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อยหลังจากที่เร่งลงทุนไปมากในช่วงก่อนหน้า การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลงสอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าที่ลดลง โดยมีมูลค่า 18,959 ล้านดอลลาร์สรอ. หดตัว 4.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางสินค้าทุน และการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วน

ด้านรายได้เกษตรกรขยายตัว 2% จากระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งปริมาณและราคา โดยปริมาณขยายตัว 0.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกเมื่อหลายปีก่อน ส่วนราคาสินค้าเกษตรขยายตัว 1.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามราคามันสำปะหลังที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น ราคาปศุสัตว์จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและราคากุ้งจากผลผลิตลดลงจากปัญหาโรคระบาด

ในส่วนภาครัฐ รายจ่ายรัฐบาลชะลอลงหลังจากที่มีการเร่งโอนเงินอุดหนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกองทุนนอกงบประมาณในช่วงก่อนหน้าส่วนรายได้ขยายตัวจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีสรรพสามิตจากภาษีสุรายาสูบ และเบียร์จากการผลิตที่มากขึ้น รายได้ที่มากกว่ารายจ่ายทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสด 48.3 พันล้านบาท

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 2.27% ตามการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาอาหารสดดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการส่งกลับรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลไปต่างประเทศ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลเล็กน้อยจากการกู้ยืมเงินระยะสั้นของสถาบันการเงินเพื่อบริหารสภาพคล่องของธุรกรรมเงินตราต่างประเทศส่วนดุลการชำระเงินเกินดุลเล็กน้อย

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท.กล่าวว่า การใช้จ่ายที่ชะลอลงจากหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นนั้น ยังคงต้องติดตามดูว่าจะฉุดการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคลงแค่ไหน รวมถึงธนาคารพาณิชย์จะกังวลในแง่ของการปล่อยสินเชื่อมากแค่ไหนด้วย

ทั้งนี้ ธปท.จะนำข้อมูลการชะลอตัว เสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ทบทวนปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ในการประชุมวันที่ 10 ก.ค.พร้อมกับข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่จะต้องติดตามว่ามีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะ ธปท.มองในมุม conservative พอสมควร ส่วนคำตัดสินของศาลปกครองในคดีการบริหารจัดการน้ำคงจะกระทบกับเศรษฐกิจบ้าง

ในกรณีค่าเงินบาทผันผวนนั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ร่วมกันจัดการทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมาตลาดเงินก็ค่อนข้างมีปฏิกิริยาต่อการที่ธนาคารสหรัฐ(เฟด)จะชะลอและยุติมาตรการ QE ไปมากแล้ว ประกอบกับ ก่อนหน้านี้ไทยก็มีข่าวว่าจะมีมาตรการออกมาควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ ทำให้นักลงทุนอ่อนไหวกับมข่าวอย่างนี้พอสมควร ระยะต่อไปประเมินว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีทิศทางผันผวน

ธปท.ระบุว่า การส่งออกครึ่งปีหลังภาพรวมน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น การบริโภคน่าจะทรงตัวไม่หวือหวา ส่วนหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ธปท.ก็ไม่ได้กังวล เพราะหนี้ครัวเรือนหดตัวลงแล้ว เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินในเดือน พ.ค.ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 12% จาก 12.6% ในเดือนก่อน เนื่องจากสินเชื่อครัวเรือนชะลอลง ขณะที่สินเชื่อธุรกิจทรงตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ