(เพิ่มเติม) SCB EIC ลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือ 4% ใช้จ่ายเอกชน-ส่งออกชะลอ,ลงทุนรัฐล่าช้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 25, 2013 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 4% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวได้ 5.1% จากเหตุผลเรื่องการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน, ความล่าช้าในการลงทุนของภาครัฐ และการส่งออกที่เติบโตได้ไม่ดีนักในช่วงครึ่งปีแรก

ทั้งนี้ พบว่าการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวทั้งในส่วนของสินค้าทดแทนและสินค้าไม่ทดแทน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในส่วนของการนำเข้าเครื่องจักรชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดจากที่เคยเร่งตัวในปี 55 นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของการลงทุนในแผนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากคำตัดสินเบื้องต้นของศาลปกครองกลาง

สำหรับการส่งออกของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนั้น ขยายตัวเพียง 1.9% ซึ่งเป็นผลหลักมาจากการส่งออกไปประเทศจีนที่ลดลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม SCB EIC คาดว่าการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นตามสัญญาณการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักเช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยการส่งออกโดยรวมในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.7%

ส่วนการเร่งตัวของหนี้ครัวเรือนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน โดยหนี้ครัวเรือนได้เพิ่มขึ้นจาก 63% ต่อ GDP ในปี 2553 มาเป็นประมาณ 80% ต่อ GDP ในปัจจุบัน ซึ่งการเร่งตัวของภาระหนี้นี้ทำให้หลายครัวเรือนเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายต่างๆ มากขึ้น และยังส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต่างเข้มงวดกับการให้สินเชื่อมากขึ้น สะท้อนจากยอดสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิตต่างๆ มีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นการขยายตัวของการใช้จ่ายครัวเรือนผ่านการก่อหนี้จะทำได้อีกไม่มากนัก

นอกจากนี้การลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา และน้ำตาล ส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรค่อนข้างทรงตัวในช่วงที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของครัวเรือนในภาคเกษตรด้วย

SCB EIC ยังประเมินว่าค่าเงินบาทว่าน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 30-31 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยค่าเงินบาทและค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคมีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยเดียวกันคือการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศว่าอาจจะมีการลดขนาดของ QE ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ แต่คาดว่าภาวะเงินทุนไหลออกไม่น่าจะส่งผลให้ประเทศไทยประสบปัญหาดุลการชำระเงิน( balance of payment crisis) เหมือนสมัยปี 2540 เพราะในปัจจุบันประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และประมาณ 130% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด นักลงทุนต่างประเทศจึงมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีเงินตราต่างประเทศเพียงพอ และไม่จำเป็นต้องเร่งนำเงินออกนอกประเทศ ดังนั้น โอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงอย่างไม่มีเสถียรภาพจึงเป็นไปได้น้อย

ด้วยเหตุนี้ SCB EIC จึงประเมินว่าประเทศไทยยังสามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปได้ ต่างกับประเทศที่มีความเสี่ยงกับปัญหาดุลการชำระเงิน เช่น อินเดีย และอินโดนีเซีย ที่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน

นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากปัจจัยตัวเลขภาคเอกชนที่มีการชะลอตัว, การส่งออกที่ชะลอตัวจากผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 80% จากปีก่อน 77% ทำให้น่าจะเป็นนโยบายในเชิงผ่อนคลายทางด้านการเงิน อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

"เรามองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง อาจจะทำให้หนี้ภาคครัวเรือนมากขึ้นจากดอกเบี้ยที่ต่ำลง ทำให้คนใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งหากจะลดจริงๆ ต้องมีการศึกษาให้ดี แต่ถ้าไม่ลด มองว่าก็ยังมีเครื่องมืออื่นๆ อีกในการจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้" นางสุทธาภา กล่าว

พร้อมกันนี้ ยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะกลับมาเติบโตได้ดีที่คาดว่าจะมีการเติบโตประมาณ 4.8-4.9 % จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ดีในปี 57 จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรปเศรษฐกิจจะไม่ตกต่ำไปมากกว่านี้แล้ว จะทำให้การส่งออกของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้น และจะมีการลงทุนภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้

อย่างไรก็ดี หากการลงทุนของภาครัฐทั้งในเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 57 ให้ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ราว 0.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ