ผู้เลี้ยงกุ้งเฮ สหรัฐฯยกเว้นเก็บภาษี CVD ส่งผลกุ้งไทยได้เปรียบคู่แข่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 15, 2013 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค.56 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาได้ประกาศผลการไต่สวนขั้นสุดท้ายการอุดหนุนสินค้ากุ้งแช่แข็งจากไทย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาในคราวเดียวกันนี้อีก 6 ประเทศ คือ จีน, อินเดีย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และเอกวาดอร์ โดยผลการไต่สวนขั้นสุดท้ายปรากฏว่า ไทยมีการอุดหนุนอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 2 (De Minimis) จึงได้รับการยกเว้นการเรียกเก็บอัตราอากร CVD ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งกับไทยถูกเรียกเก็บอัตราอากร CVD ในระหว่างร้อยละ 0-54.5

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมสหรัฐได้ใช้มาตรการ AD กับกุ้งไทยมาตั้งแต่ปี 48 แต่ตลอดระยะเวลาการใช้มาตรการดังกล่าว ภาครัฐและผู้ส่งออกไทยได้ร่วมต่อสู้กันจนทำให้อัตราอากร AD กุ้งไทยลดลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงอัตราร้อยละ 0 เท่านั้น ซึ่งทำให้ไทยยังครองตลาดกุ้งในสหรัฐฯ เรื่อยมา

แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พ.ค.56 สหรัฐฯ ได้ประกาศผลการไต่สวนขั้นต้นการอุดหนุนสินค้ากุ้งแช่แข็งของไทย ซึ่งมีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 2.09 ทำให้ผู้ส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ เพราะต้องวางหลักประกันอากรในการส่งออกกุ้งแช่แข็งไปยังสหรัฐฯ ในอัตราดังกล่าวจนกว่าจะมีการประกาศผลการไต่สวนขั้นสุดท้าย กรมการค้าต่างประเทศในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยและผู้ส่งออกสินค้ากุ้งแช่แข็งของไทยจึงได้ร่วมกันให้ข้อมูล/ข้อเท็จจริง เพื่อแก้ต่างข้อกล่าวหาในเรื่องการอุดหนุนดังกล่าว จนล่าสุดสหรัฐฯ ได้ประกาศผลการไต่สวนขั้นสุดท้ายโดยยกเว้นการเรียกเก็บอัตราอากร CVD ทำให้ไทยหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาดังกล่าวอย่างถาวร

"ในขณะที่ต้นทุนการส่งออกของกุ้งไทยสูงขึ้นเพราะต้องวางหลักประกันอากร CVD เพื่อรอผลการตัดสินขั้นสุดท้าย กุ้งไทยยังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ เพราะเกิดภาวะ EMS ในลูกกุ้งไปพร้อมๆ กัน จนทำให้ผู้ซื้อกุ้งในสหรัฐฯ ระงับการสั่งซื้อไปบ้างในช่วงเวลาสั้นๆ ดังนั้นการที่ไทยได้รับการยกเว้นอัตราอากร CVD ในคราวนี้ถือได้ว่าไทยได้เปรียบคู่แข่ง เพราะประเทศอื่นๆ จะถูกเก็บอากร CVD และจะทำให้ไทยสามารถกลับมาส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐฯ ได้มากขึ้นอีก" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ