"ไพรินทร์" ยัน PTT ไม่ได้ประโยชน์จากปรับขึ้นราคา LPG ชี้เป็นนโยบายรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 23, 2013 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) ชี้แจงกรณีที่จะมีการปรับขึ้นราคาปิโตรเลียมเหลว(LPG) ภาคครัวเรือนในวันที่ 1 ก.ย.นี้ว่า เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ไม่ใช่นโยบายของ ปตท.ที่เป็นเพียงผู้ปฎิบัติตามนโยบายรัฐบาลเท่านั้น และการปรับขึ้นราคาดังกล่าวไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ PTT แต่ช่วยลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ปัจจุบันโครงสร้างราคา LPG ของไทย ภาครัฐกำหนดราคาหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ 10.20 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายมี 4 ประเภท ได้แก่ ภาคครัวเรือนอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม, ภาคขนส่งอยู่ที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม ภาคอุตสาหกรรม 30.13 บาทต่อกิโลกลรัม และภาคปิโตรเคมีที่ผันแปรตามราคาผลิตภัณฑ์ ซึ่งปีที่แล้วราคาขายเฉลี่ย 24 บาท/กิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนว่า LPG ภาคปิโตรเคมี ขายในราคาต่ำกว่าภาคอื่นๆ โดยอ้างว่า ปตท.ทำกำไร ทั้งที่ข้อเท็จจริง ต้องดูโครงสร้างทั้งระบบ เนื่องจาก LPG ภาคปิโตรเคมีเป็นการจำหน่ายในราคาวัตถุดิบ ไม่เหมือนกับการจำหน่ายภาคอื่นๆ ที่เป็นเชื้อเพลิง จึงมีภาษีสรรพสามิตมีกองทุนน้ำมันฯ และอื่นๆ ซึ่งมีภาษีรวมประมาณ 8 บาทเศษ

ในส่วนของปิโตรเคมีที่มาจากโรงแยกก๊าซฯ จำหน่ายในราคา 19.50 บาท/กิโลกรัม โดยมีการจ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.2 บาท/กก. ส่วนราคา LPG จากโรงกลั่นน้ำมันอยู่ที่ 28.30 บาท เพราะราคาผันแปรตามราคาน้ำมัน ดังนั้นราคาขาย LPG ภาคปิโตรเคมีจึงเฉลี่ยอยู่ที่ 24 บาท/กิโลกรัม

นายไพรินทร์ กล่าวว่า การกำหนดสูตรราคาแก่ปิโตรเคมี เป็นมาตั้งแต่ในอดีตที่ต้องการสร้างมูลค่าลงทุน คำนึงถึงผู้บริโภค และเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเป็นราคาวัตถุดิบของอุตสาหกรรมหลายประเภท ทั้งเคมีภัณฑ์ ยา พลาสติก เสื้อผ้า และอื่นๆ หากใช้วัตถุดิบราคาแพงจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม ซึ่งมูลค่าเพิ่มนั้นก่อให้เกิดการลงทุนนับแสนล้านบาท และช่วยสร้างงานเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ราคา LPG ที่จะปรับขึ้นนับว่ายังเป็นราคาถูกกว่า PLG เพื่อนบ้านที่มีราคาขายเกือบ 40 บาท/กิโลกรัม แต่ของไทยปัจจุบัน 18.13 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเมื่อปรับราคาขึ้นเดือนละ50 สต./กิโลกรัม จนมีราคาสูงสุดที่24.82บาท/กก.

ทั้งนี้ ปตท.ได้ประกาศให้พนักงานของ ปตท. และพนักงานในอาคารเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ กลับบ้านตั้งแต่ช่วงเช้า เพราะม็อบหลายกลุ่มจะมาชุมนุมหน้า ปตท.ในช่วงบ่ายวันนี้ โดยใช้ข้อมูลคัดค้านการปรับราคาแอลพีจีที่ คาดว่าจะมีการชุมนุมนับพันคน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความสงบไม่ต่ำกว่า 400 นาย และขึ้นระดับเตือนภัยสูงเป็นสีส้ม หรือระดับที่ 3 จากระดับสูงสุดอยู่ที่ระดับที่ 4

ด้านนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปิโตรเลียมขั้นปลาย PTT กล่าวว่า การกำหนดราคาปิโตรเคมี เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ โดยในอนาคต ปตท.จะปรับลดสัดส่วนการใช้แอลพีจีในภาคปิโตรเคมีหรือไม่ จะต้องดูผลกระทบผู้ใช้ปิโตรเคมีต่อเนื่องด้วย เพราะสุดท้ายผู้บริโภคจะใช้สินค้าสำเร็จรูปที่ต้องปรับขึ้นราคา

ปัจจุบัน ปตท.ผลิต LPG จากโรงแยกก๊าซฯ 3.6 ล้านตันต่อปี โดยครึ่งหนึ่งขายให้ปิโตรเคมี ที่เหลือส่งจำหน่ายแก่ผู้บริโภคทั่วไป ขณะที่ปีที่แล้วภาคปิโตรเคมีมีการใช้ LPG จากโรงกลั่นน้ำมันประมาณ 9 แสนตัน หรือมีสัดส่วนร้อยละ 35 และมาจากโรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 65 รือประมาณ 1.7 ล้านตัน

"หากราคาเม็ดพลาสติกขยับเพิ่มขึ้น ราคา LPG จะขยับตาม การหยิบข้อมูลมาพูดควรอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ไม่ควรแยกส่วน" นายไพรินทร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปตท.ดูวัตถุดิบปิโตรเคมีทุกด้าน ทั้งจากแอลพีจีและแนฟทา รวมทั้งนำเข้าเชลล์แก๊สจากสหรัฐฯ ว่าต้นทุนใดถูกที่สุดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มีต้นทุนต่ำ เพื่อประโยชน์ผู้บริโภค และแข่งขันได้ในตลาดโลก ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ปตท.มีกำไรเป็นแสนล้านบาทนั้น ข้อเท็จจริงกำไรส่วนใหญ่ มาจากการลงทุน 14 ประเทศทั่วโลก 40 โครงการ และเป็นกำไรสัดส่วนน้อยเพียงร้อยละ 3-4 ของรายได้รวม 2.8 ล้านล้านบาทต่อปี ขณะที่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศ ซึ่งผูกพันกับผู้บริโภคส่วนใหญ่ถูกจำกัดโดยภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ LPG ส่วนเรื่องของค่าผ่านท่อก๊าซฯ ซึ่ง ปตท.ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ผูกขาดการจำหน่ายนั้น เรื่องนี้มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ดูแลเพื่อความเป็นธรรม

ส่วนราคาน้ำมันตลาดโลกที่ขยับสูงขึ้นมีผลต่อต้นทุน ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ค่าการตลาดเฉลี่ยลดลงเหลือ 1.10 บาทต่อลิตร จากที่ควรมีอัตราไม่ต่ำกว่า 1.50 บาทต่อลิตร แต่ที่ ปตท.ยังไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน เพราะพิจารณาผลกระทบผู้บริโภค และกระทรวงพลังงาน มีการปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันดีเซล 40 สตางค์ต่อลิตรจึงสามารถรับภาระได้ อย่างไรก็ตาม ปตท.คาดว่า ราคาน้ำมันช่วงปลายปีนี้ จะอยู่ไม่เกิน 100-110 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดโลกยังกังวลภาวะเศรษฐกิจ และกำลังการผลิตมีมากกว่าความต้องการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ