(เพิ่มเติม) "ศุภชัย"ไม่ห่วงทุนไหลกลับหลังสหรัฐชะลอ QE มองแง่ดีไทยลดเสี่ยงฟองสบู่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 29, 2013 13:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(UNCTAD) เปิดเผยว่า Fund flow ที่ไหลออกต่อเนื่องถือว่าไม่น่ากังวล เพราะสุดท้ายก็จะกลับเข้ามา ดังนั้นในช่วงนี้จึงเป็นโอกาสดีสำหรับการปรับโครงสร้างภายในให้แข็งแกร่ง ตลอดจนดูแลการค้าขาย และการลงทุนในภาค Real Sector

โดยขณะนี้ถือว่าเศรษฐกิจไทยมีความสมดุลไม่จำเป็นต้องพึ่งพาจีน, อินเดีย และสิงคโปร์ แต่ควรสร้างศักยภาพให้แข็งแกร่งด้วยตัวเองผ่านการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา(R&D) และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น รวมทั้งลงทุนการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการค้าขายชายแดนโดยเฉพาะด้านบริการขนส่ง

ส่วนในแง่ตลาดทุนนั้น การทยอยเลิกมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าสหรัฐฯ ใช้มาตรการ QE ต่อไปนานๆ จะเกิดภาวะฟองสบู่ในเอเชียรวมถึงไทย เพราะการปรับขึ้นของราคาหุ้นหรือพันธบัตรราว 80% ปรับขึ้นมาจากสภาพคล่อง อีก 20% จากการปรับโครงสร้างภายใน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศในเอเชียรวมทั้งไทยพึ่งพาเงินจาก QE สหรัฐฯ ที่ขณะนี้เริ่มชะลอและดึงเงินกลับไปแล้ว ซึ่งแม้อาจมีผลกระทบบ้างแต่จะทำให้เราแข็งแรง

พร้อมมองว่า ภาครัฐควรมีการลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการลงทุนที่ต่อเนื่องโดยภาคเอกชน แต่อาจไม่ใช่การที่รัฐบาลจะเข้าไปลงทุนเองทั้งหมด โดยอาจทำในรูปแบบของการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี และการฝึกทักษะแรงงาน เป็นต้น

"แม้ขณะนี้เงินทุนต่างชาติจะไหลออก แต่ก็ไม่ได้สร้างปัญหาความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจไทย เพราะมีเพียงบางภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ขีดความสามารถภาคการส่งออกของไทยยังปรับตัวดี แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะรัฐบาลจะต้องมีการลงทุนเพิ่ม โดยต้องเป็นการลงทุนที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น นำร่องให้เอกชนลงทุนตาม ไม่ใช่รัฐบาลลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างยั่งยืน และจะไม่ส่งผลเสียต่อหนี้สาธารณะ แม้ว่าอัตราหนี้สาธารณะจะสูงขึ้นเกิน 60% ของจีดีพี เพราะเป็นการลงทุนที่สร้างรายได้ ทำให้เกิดการจ้างงานและผลตอบแทนเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่ใช่เป็นการลงทุนทางด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว" นายศุภชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ