(เพิ่มเติม1) พาณิชย์ เผย CPI ส.ค.56 เพิ่มขึ้น 1.59% ส่วน Core CPI เพิ่ม 0.75%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 2, 2013 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือน ส.ค.56 อยู่ที่ 105.41 เพิ่มขึ้น 1.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.01% จากเดือน ก.ค.56 ขณะที่ตัวเลข CPI เฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ส.ค.56) เพิ่มขึ้น 2.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
"เงินเฟ้อเดือนสิงหาคมที่เพิ่มขึ้น 1.59% เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากการปรับตัวลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ประกอบกับผักสดหลายชนิดปรับราคาลงในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ในภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนในด้านการบริโภคยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมีเสถียรภาพ" นางวัชรี กล่าว

อนึ่ง อัตราเงินเฟ้อในเดือนส.ค.56 ถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 46 เดือน หรือเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่เดือนต.ค.52 ที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียง 0.4%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) เดือน ส.ค.56 อยู่ที่ 103.14 เพิ่มขึ้น 0.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.07% จากเดือน ก.ค.56 โดยตัวเลข Core CPI เฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 1.13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน ส.ค.56 อยู่ที่ 108.79 เพิ่มขึ้น 2.65% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.16% จากเดือน ก.ค.56 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน ส.ค.56 อยู่ที่ 103.41 เพิ่มขึ้น 1.06% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.10% จากเดือน ก.ค.56

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภคมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยหลักมาจากการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ โดยดัชนีลดลง 0.10% สาเหตุจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงบางชนิดโดยเฉลี่ยของประเทศปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดัชนีลดลง 1.01% นอกจากนี้สินค้าและบริการอื่นๆ ที่ปรับราคาลดลง ได้แก่ ผ้าเช็ดตัว ตู้เย็น เตารีด เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น

ขณะที่สินค้าประเภทค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ได้แก่ น้ำยาระงับกลิ่นกาย แชมพู ยาสีฟัน กระดาษชำระ น้ำยาถูพื้น น้ำยาปรับผ้านุ่ม มีการปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนส.ค.นี้จะปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ก็ยังมีสินค้าบางหมวดที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นได้จากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีสูงขึ้น 0.16% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม และหมวดอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น

นอกจากนี้สินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ขณะที่สินค้าที่มีการปรับราคาลดลง ประกอบด้วย ผักสด ได้แก่ ขึ้นฉ่าย ผักชี ผักกาดหอม หัวผักกาดขาว ผักคะน้า กะหล่ำปลี และเครื่องประกอบอาหาร ได้แก่ น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป มะพร้าว(ผลแห้ง/ขูด) เป็นต้น

โดยในเดือน ส.ค.56 มีราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 159 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 35.33% ขณะที่มีสินค้าที่ปรับตัวลดลง 91 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 20.22% และมีสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการ 200 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 44.45%

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีที่มีการปรับขึ้นราคาค่าผ่านทางด่วน ราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) และราคาค่าไฟฟ้าผันแปร(Ft) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีเพียงเล็กน้อย โดยทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เท่านั้น ซึ่งไม่กังวลว่าจะส่งผลกระทบทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น ราคาอาหารจานด่วน เนื่องจากผู้ประกอบการให้ความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า ประกอบกับรัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในปี 56 นี้ไว้ที่ 2.8-3.4% ตามเดิมก่อน แม้ช่วงที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวลดลง แต่ตามปกติแล้วในช่วงปลายปีอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นตามปริมาณการจับจ่ายใช้สอยที่มักจะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ดังนั้นจึงต้องรอดูภาพรวมเศรษฐกิจโลกในเดือน ก.ย.56 และสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำมันที่มีผลต่อต้นทุนสินค้าและค่าขนส่ง ก่อนที่จะประเมินสถานการณ์เงินเฟ้ออีกครั้งในช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้

"ขอดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากสถานการณ์ในซีเรียว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่เป็นปัจจัยพื้นที่หรือไม่ แล้วค่อยประเมินอีกทีในช่วงปลายเดือน" นางวัชรี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ