สธ. หนุนวิจัยน้ำยางพาราผลิตเครื่องมือแพทย์แทนพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 2, 2013 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการกระตุ้นให้มีการนำยางพารามาเป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องมือแพทย์ว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2555 ได้มีการแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการที่จะจดทะเบียนถุงมือยางได้ง่ายขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมากฎระเบียบเรื่องนี้มีค่อนข้างมาก ใช้เวลาขั้นตอนนาน มีค่าใช้จ่ายต่างๆ เทียบเท่ากับมาตรฐานอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้ผู้ประกอบการบางบริษัทเข้าไม่ถึง

หลังจากมีการแก้ไขกฎระเบียบ ได้รับข้อมูลจาก รมช.พาณิชย์ว่า ปริมาณการใช้ยางพาราในการผลิตถุงมือยาง เพิ่มมากขึ้นเดือนละ 10,000 ตัน แต่บังเอิญมีปัญหาเรื่องโรงงานทำถุงมือไฟไหม้ ทำให้ปริมาณการใช้น้ำยางน้อยลงไป ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง เช่น เครื่องจักรจะช่วยนำเข้ามาเร็วอย่างไร การลดหย่อนภาษี เงินทุน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในการใช้ยางพาราด้วย

นอกจากนี้ จะเข้าไปวิจัยส่งเสริมให้มีการใช้ยางพารา เพื่อผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ถุงมือ สายยางต่างๆ รวมทั้งวัสดุในภาคอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อใช้ทดแทนพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย และทำให้เกิดปัญหามลภาวะ มลพิษต่างๆได้ หากสามารถใช้ยางพารามาผลิตได้สำเร็จ จะช่วยให้ตลาดใหญ่ขึ้น เช่น มูลค่าการส่งออกถุงมือยางที่เดิมประมาณปีละ 20,000 ล้านบาท จะเพิ่มเป็น 50,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วงเวลา 4-5 ปีข้างหน้า และจะเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางพาราดิบ ได้ถึง 500,000 ตันต่อปี

“การดำเนินการส่งเสริมในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมแบบบูรณการ ให้มีการผลิตจากยางพาราทุกรูปแบบ เพื่อกระตุ้นการใช้ เช่น กระทรวงคมนาคมจะนำไปผสมยางมะตอยราดถนน หรือนำไปผสมทำที่นอนยางพาราให้มากขึ้น รวมทั้งการทำให้มีมูลค่าเพิ่ม ส่งออกต่างประเทศ โดยนำไปใช้ผสมในวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถุงมือยาง เป็นการกระตุ้นตลาดให้ใหญ่ขึ้น ชูจุดเด่นในการลดมลพิษสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายมาตรการ ที่รัฐบาลกระตุ้นอย่างครบวงจร แก้ไขในเชิงระบบทั้งหมด" รมว.สาธารณสุข กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ