ครม.ไฟเขียวยุทธศาสตร์บูรณาการกม.ฟอกเงินและก่อการร้าย ปี 56-58

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 3, 2013 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การบูรณาการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556-2558 ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) เสนอ

โดยสาระสำคัญของยุทธศาสตร์การบูรณาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว มีกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

1.เร่งสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาล อัยการ ตำรวจ ทหาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ หน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ 2.ประสานงานกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามความผิดมูลฐาน และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายนำมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม

3.ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้มีการกระทำความผิด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเข้าใจว่ามีกฎหมายใหม่ออกมาบังคับใช้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแจ้งข้อมูลเบาะแส พฤติการณ์ของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด 4.เร่งรัดการดำเนินการประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมติหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และตามที่ศาลมีคำสั่ง ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 4 และรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2556

5.บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการข่าว การสืบสวน สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งการปฏิบัติการตรวจค้น จับกุม การยึด/อายัด ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด 6.การดำเนินการกับผู้กระทำความผิดมูลฐานและความผิดฐานฟอกเงิน และดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอย่างจริงจังและเข้มงวด และ 7.ติดตามประเมินผลการปฏิบัติและรายงานผลต่อคณะกรรมการ ปปง.ทุกระยะ เพื่อทราบความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการเพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาและพัฒนานโยบายต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าว แม้ประเทศไทยได้รับการถอดชื่อออกจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายอย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.56 แต่ประเทศไทยจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่ตราออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การพิจารณาถอดหรือกำหนดรายชื่อของ FATF นั้น จะดำเนินการทุกครั้งในการประชุมเต็มคณะของ FATF ซึ่งจะมีการประชุมปีละ 3 ครั้ง ในเดือนก.พ., มิ.ย. และต.ค.ของทุกปี และจะมีการนำเสนอความคืบหน้าในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวของแต่ละประเทศโดยตลอด ดังนั้นเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านกานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย จึงจำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์การบูรณาการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556-2558 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ