นายกฯ หารือเอกชนกำหนดยุทธศาสตร์การค้า-ลงทุนในสวิส-อิตาลี-มอนเตรเนโกร

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 9, 2013 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ร่วมหารือกับผู้แทน สมาคมภาคเอกชนไทยที่กรุงเจนีวา ในโอกาสเดินทางเยือนสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และมอนเตเนโกร เพื่อชี้แจงยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ ในการการผลักดันโอกาสการค้าและการลงทุนของไทยในสาขาที่มีศักยภาพในยุโรป

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับไทย สวิสฯถือเป็น คู่ค้าอันดับ 11 ของไทย (อันดับ 1 ใน EFTA) FDI อันดับ 2 จากยุโรป อันดับ 9 จากทั่วโลก และเป็นตลาด nitche market โดยเฉพาะ อัญมณี และเครื่องประดับ เสื้อผ้า และของตกแต่งบ้านแทนตลาดเดิม (US / EU) นอกจากนี้ ยังมีองค์ความรู้ซึ่งส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย (อาหาร ท่องเที่ยว โรงแรม ไฮเทค) นำเข้าข้าวประมาณ 1 แสนสองหมื่นตันต่อปี (รวมข้าวไทย) เพื่อส่งออกต่อไปยังเยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศส มีนักท่องเที่ยว 190,984 (2555) คน เพิ่มจากปี 2554 ร้อยละ 12 มีคนไทย 30,000 คน ร้านอาหารไทย 124 ร้าน

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการวางยุทธศาสตร์การขยายการค้าระหว่างกันและการสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุน โดยมีกลยุทธ์ คือ การผลักดันการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป(Thai—EU FTA) การผลักดันให้สวิสฯนำเข้าสินค้าจากไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อลดการขาดดุลการค้าของไทย และผลักดันให้ สวิสฯ แก้ปัญหาการเก็บภาษีสินค้าจากประเทศที่สามซ้ำซ้อน การจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายให้ภาคเอกชนไทยทำความรู้จักกับผู้บริหารซุปเปอร์มาร์เก็ต Migros และ COOP เพื่อหาลู่ทางเจาะตลาดสวิส เพิ่มเติม รวมทั้ง โอกาสการผลิตสินค้าใน brand CO-OP

การชักจูงการลงทุนเชิงรุกในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงโดยเน้นอุตสาหกรรม engineering industry เครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วนที่มี ความแม่นยำสูง ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตใน ASEAN การจัด Business Forum สร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนและตลาดทุนไทย รวมทั้งโอกาสการเข้าร่วมในโครงการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลไทย และลงทุนในตลาดทุนไทย รวมทั้ง การส่งเสริม Competitiveness ของไทย โดยการศึกษาดูงานสร้างความเข้มแข็งให้ภาคอุตสาหกรรมไทย อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ด้านการบริหารจัดการ SMEs การท่องเที่ยว การโรงแรม การจัดการสิ่งแวดล้อม และพลังงานทดแทน

สำหรับอิตาลี เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (ออกแบบและแฟชั่น) มีรากฐานอุตสาหกรรมที่มั่นคง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ยานยนต์ การก่อสร้าง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การต่อเรือ การเดินเรือสินค้า การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ และมีภาค SMEs ที่เข้มแข็ง อาทิ เสื้อผ้า และแฟชั่น สิ่งทอ โดยเฉพาะผ้าไหม อัญมณี และเฟอร์นิเจอร์ มีความสนใจขยายการลงทุนในเอเชียและไทย และมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นที่ต้องการของภาคการผลิตไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาสินค้าโอท็อป และตลาดท่องเที่ยวระดับบน อุตสาหกรรม MICE และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะเน้นย้ำภาพลักษณ์ของไทยในฐานะนักลงทุนที่มีศักยภาพ

นอกจากนี้ อิตาลียังเป็นประเทศที่ไทยสามารถร่วมมือเพื่อการพัฒนาศักยภาพและจุดเด่นของกันและกันในหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการและการพัฒนาธุรกิจ SMEs ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และแฟชั่น ดังนั้น รัฐบาลจึงได้เสนอยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของไทยต่ออิตาลี โดย การขยายการค้าระหว่างกัน ผ่านการร่วมกันผลักดัน Thai—EU FTA และศึกษาดูงานสร้างเครือข่ายกับ Eataly Roma ซึ่งเป็น food market / mall chain ระดับ high-end การดึงดูดการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวเพิ่มเติม โดยชักจูงการลงทุนเชิงรุกในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร และอัญมณี การจัด Business Forum สร้างความเชื่อมั่น ดึงดูดการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว การพัฒนาอุตสาหกรรมและ SMEs ไทย โดยส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานส่งเสริม SMEs และสถาบันด้าน design ของอิตาลี เพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการสร้าง มูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและ SMEs ไทย รวมทั้ง หุ้นส่วนในการพัฒนาอุตสาหรรมแฟชั่นของไทย

ส่วนมอนเตรเนโกร ให้ความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะเข้าเป็นสมาชิกของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และ EU ในปัจจุบัน มอนเตเนโกรใช้เงินสกุลยูโร และเป็นสมาชิกของ Central European Free Trade Agreement ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมที่จะบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ EU โดยที่มอนเตรเนโกรเป็นประเทศเกิดใหม่ และยังไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากนัก ซึ่งเศรษฐกิจพึ่งพาธุรกิจบริการ (service-based economy) โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ดังนั้น รายได้หลักของมอนเตเนโกรมาจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการแปรรูปอลูมิเนียม และต้องการรับความสนับสนุนในด้านการเกษตร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

อีกทั้ง มอนเตรเนโกรนำเข้าอาหารร้อยละ 80 รวมไปถึงอาหารทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญของมอนเตเนโกรอีกด้วย สำหรับยุทธศาสตร์ของไทยต่อมอนเตรเนโกร ในด้านเศรษฐกิจ นั้นจะเป็นการบุกเบิกตลาดใหม่ของไทยในภูมิภาคบอลข่าน และส่งเสริมความเชื่อมั่นต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทย

ปัจจุบัน เศรษฐกิจเศรษฐสัมพันธ์ระหว่างไทยและมอนเตเนโกรมีปริมาณน้อย จึงมีศักยภาพที่จะขยายการค้าระหว่างกันได้อีกมาก มอนเตเนโกรมีท่าเรือที่เมืองบาร์ (Luka Bar) ตั้งอยู่ปากทะเลเอเดรียติก เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีปริมาณขนส่งสินค้าร้อยละ 95 จากปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมดของมอนเตเนโกร (เป็นปริมาณ 8.5 แสนตัน/ปี) จึงสามารถเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าจากไทยไปยังภูมิภาคบอลข่านและยุโรปตะวันออกได้ สำหรับการลงทุนจะผลักดันให้มีความร่วมมือด้านการลงทุนมากขึ้น โดยมอนเตเนโกรยังต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคธุรกิจของไทยจะเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น การเกษตร การผลิตอาหาร ธุรกิจการท่องเที่ยว การประมง และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น

นอกจากนี้ ด้านการท่องเที่ยว จะมีการส่งเสริมให้ชาวมอนเตเนโกรมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ ปริมาณนักท่องเทียวของมอนเตเนโกรที่มาไทยยังมีปริมาณน้อย โดยในปี 2555 มีนักท่องเที่ยวมอนเตเนโกรมาไทยจำนวน 952 คน

ทั้งนี้ ผู้แทนภาคเอกชนไทยที่เข้าร่วมหารรือ ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้า สภาธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมผุ้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ และนักธุรกิจไทยที่มีศักยภาพในตลาดไทย-สวิส และไทย-อิตาลี ในสาขาต่างๆ อาทิ สาขาอาหารและการบริการ สาขาท่องเที่ยว สาขาพลังงาน สาขาก่อสร้างและอุตสาหกรรมยานยนต์ สาขาชิ้นส่วนยานยนต์ สาขาการออกแบบและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ