(เพิ่มเติม) นักเศรษฐศาสตร์ มองพ.ร.บ. 2 ล้านลบ.ยังไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 19, 2013 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ทีดีอาร์ไอมีความเป็นห่วงแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง วงเงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในขณะนี้ เพราะแม้โดยภาพรวมจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากเป็นลงทุนในภาคขนส่งซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ แต่ยอมรับว่าในโครงการลงทุน 75% เป็นโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง ซึ่งไม่ตอบโจทย์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพราะไม่ได้เป็นโครงการขนส่งสินค้า แต่เป็นโครงการที่ให้บริการขนส่งมวลชนที่เน้นผู้มีรายได้สูง ดังนั้นภาครัฐจะต้องพิจารณาโครงการต่างๆ ให้มีความรอบคอบมากกว่านี้

นายสมเกียรติ มองว่า เศรษฐกิจไทยในระยะยาวยังมีความน่าเป็นห่วง เพราะเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาการชี้นำโดยภาครัฐผ่านธนาคารของรัฐและรัฐวิสาหกิจต่างๆ รวมถึงเป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่คำนึงถึงพวกพ้อง ส่งผลให้คนร่ำรวยจากผลประโยชน์ ขณะที่รายได้ต่อประชากรยังไม่ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษา ทีดีอาร์ไอ เชื่อว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทน่าจะผ่านการพิจารณาของสภาฯได้ แต่โจทย์ใหญ่ที่สำคัญคือ ความคุ้มค่าของการลงทุนและการเบิกจ่ายเม็ดเงินที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในช่วงปีที่ 3-4 ของระยะเวลาโครงการรวมทั้งหมด 7 ปี ซึ่งคงยังไม่ได้เห็นผลชัดเจนในปีนี้และปีหน้า

"ถ้ามีเหตุที่ทำให้พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทต้องชะลอออกไป ก็เชื่อว่าการลงทุนหลายโครงการตามแผนของพ.ร.บ.นี้ ยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะโครงการ 25% ได้ผ่านการออกแบบ ผ่านการขออนุญาตและพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที ผ่านกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณตามปกติ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงเทพฯที่กำลังดำเนินการอยู่ รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ที่ศึกษาออกแบบแล้วเสร็จพร้อมก่อสร้าง ขณะที่ส่วนใหญ่ที่เหลืออีก 75% ยังต้องดำเนินการอีกหลายส่วน จึงยังไม่เกิดผลโดยเร็ว" นายวิรไท กล่าว

ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เม็ดเงินจาก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท น่าจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปี 57 มากกว่าปีนี้ และคาดว่าจะเห็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยชัดเจนในปี 58 ดังนั้นระหว่างนี้รัฐบาลควรมีมาตรการรองรับการเบิกจ่ายและใช้งบประมาณในบางโครงการที่มีความพร้อม เพื่อให้สามารถนำมาเบิกจ่ายตามปกติในงบประมาณประจำปีได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ