นักวิชาการม.อ.มองการช่วยเรื่องปัจจัยผลิตยาง เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น-ไม่ตรงจุด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 25, 2013 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า สถานการณ์ความต้องการใช้ยางพาราของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในนโยบายการเพิ่มมูลค่ายางพาราของภาครัฐ เนื่องจากที่ผ่านมามีความพยายามที่จะลดต้นทุนการผลิตโดยการช่วยเหลือในปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นและไม่ตรงจุด เพราะโครงสร้างต้นทุนปัจจัยการผลิตมีเพียง 15-20%

นอกจากนี้ แนวทางการโค่นต้นยางอายุเกิน 25 ปี เพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำก็ไม่สามารถบังคับให้เกษตรกรปฏิบัติตามได้ จึงน่าเป็นห่วงว่าปริมาณยางพาราจะล้นตลาด เนื่องจากในปี 2557 จะเป็นปีที่ประเทศไทยมีผลผลิตยางเพิ่มจากผลผลิตยางในโครงการ 1 ล้านไร่ และอีก 2 ล้านไร่ที่อยู่นอกโครงการ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อราคายางพาราแน่นอน

"ภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหายางพารา โดยเร่งแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่จะส่งผลต่อความต้องการใช้ยางพาราสูงขึ้น เพราะที่ผ่านมาไทยส่งออกยางในรูปแบบวัตถุดิบทั้งยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้นและยางแปรรูปอื่นๆ ประมาณ 3.12 ล้านตัน คิดเป็น 86% ของผลผลิตทั้งหมด สร้างรายได้เข้าประเทศ 3.3 แสนล้านบาท และใช้แปรรูปภายในประเทศเพียง 0.5 ล้านตัน คิดเป็น 14% แต่สร้างรายได้ 2.6 แสนล้านบาท เมื่อเทียบการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม พบว่า การใช้ยางพาราผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สามารถเพิ่มมูลค่าได้ประมาณ 4.8 เท่าของราคาวัตถุดิบ ดังนั้น การผลักดันให้เกิดการแปรรูปยางพาราสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะช่วยแก้ปัญหายางพาราได้ดีที่สุด" นายอาซีซัน กล่าว

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีการใช้ยางพารามากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตล้อรถยนต์ คิดเป็น 70% รองลงมาได้แก่ ถุงมือยาง เส้นด้ายยางยืด ถุงยางอนามัย ยางฟองน้ำ หากนำยางพาราไปใช้เป็นถนนยางมะตอยผสมยางพารา หรือนำไปใช้ในการผลิตแผ่นยางปูพื้นสำหรับสนามเด็กเล่น สนามกีฬา โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับภาคเอกชนเพื่อนำไปผลิตสินค้า ก็จะสามารถเพิ่มความต้องการใช้ยางพาราในประเทศให้สูงขึ้นได้

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตที่นำไปสู่การแก้ปัญหาราคายางนั้น ควรมีมาตรการเร่งด่วนด้วยการเจรจาทุกฝ่ายให้มีการประกันราคายาง มาตรการระยะกลางคือ ภาครัฐต้องมีนโยบายเร่งรัดการใช้ยางในประเทศ การสนับสนุนปัจจัยการผลิต การสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ยางพาราให้ภาคเอกชน และสนับสนุนการลดหย่อนภาษีในระยะแรกของการลงทุนที่ชัดเจน

ส่วนมาตรการระยะยาว คือ กำหนดนโยบายควบคุมการขยายพื้นที่ปลูกและมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้สูงขึ้น กำหนดนโยบายบริหารจัดการแรงงาน และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมจากยางพาราให้มีมูลค่าเพิ่ม โดยรัฐต้องสนับสนุนระยะยาวทั้งโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ และการพัฒนาคน มีการกำหนดเป้าหมายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นระยะ รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนอย่างเต็มที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ