พาณิชย์เร่งผลักดันส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หวังแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 15, 2013 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กำลังเร่งผลักดันการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามแนวทางการช่วยเหลือพยุงราคาสินค้าให้มีระดับราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการปริมาณส่วนเกินของตลาดให้สมดุลและมีเสถียรภาพ หลังผลผลิตมีปริมาณส่วนเกินล้นตลาดความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยมั่นใจข้าวโพดฯ ยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต
"ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2556(มกราคม-กันยายน) กรมการค้าต่างประเทศผลักดันให้มีการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้วปริมาณกว่า 82,419 ตัน คิดเป็นมูลค่า 950 ล้านบาท" นายสุรศักดิ์ กล่าว

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีนี้(พฤศจิกายน-ธันวาคม 2556) คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเดือนละประมาณ 0.803 และ 0.661 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อยกระดับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้เกษตรกรได้รับราคา 9 บาท/กก.(ความชื้น 14.5%) และ 7 บาท/กก.(ความชื้น 30%) โดยตั้งเป้าหมายแทรกแซงปริมาณ 1.87 ล้านตัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยพยุงราคาข้าวโพดฯเกษตรกรได้ระดับหนึ่ง

"กรมการค้าต่างประเทศจะเร่งผลักดันการส่งออกเพื่อดูดซับปริมาณส่วนเกินในตลาดและเป็นการช่วยยกระดับราคาสินค้า มั่นใจว่าผู้ส่งออกพร้อมให้ความร่วมมือในการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร" นายสุรศักดิ์ กล่าว

โดยการส่งออกมุ่งไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย เช่น มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา(มกราคม-กันยายน 2556) ไทยส่งออกข้าวโพดฯ ไปประเทศฟิลิปปินส์ปริมาณ 37,300 ตัน มูลค่า 320 ล้านบาท มาเลเซียปริมาณ 20,312 ตัน มูลค่า 197 ล้านบาท ในขณะที่ไทยส่งออกไปเวียดนามแล้ว 6,843 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่ส่งออกปริมาณ 450 ตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 1,420 เนื่องจากเวียดนามมีความต้องการข้าวโพดฯ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ค่อนข้างสูง

"ปัจจุบันหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีอัตราการขยายตัวด้านอาหารสัตว์สูงมากเพื่อเลี้ยงสัตว์สำหรับการบริโภคในประเทศ จึงเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทยที่จะมุ่งเน้นการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าว" นายสุรศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐมีแนวทางที่จะเพิ่มมูลค่าของสินค้าโดยเน้นการแปรรูปวัตถุดิบ เช่น การแปรรูปเป็นแป้งข้าวโพด หรือการผลิตเอทานอลเพื่อการส่งออก ซึ่งจะทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ