(เพิ่มเติม) สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพ.ย.ลดลง 10.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 27, 2013 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพ.ย.56 ลดลง 10.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 172.19 ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ขณะที่ในช่วง 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.- พ.ย.) MPI หดตัวลง 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่อัตราการใช้กำลังผลิตในเดือน พ.ย.56 อยู่ที่ 63.14% เทียบกับ 63.46% ในเดือนต.ค. เป็นผลมาจากการลดลงของการผลิตรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง

จากดัชนีที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากในเดือนพ.ย. ทำให้ สศอ. คาดว่า ดัชนี MPI โดยรวมในปี 56 จะติดลบ 3.0% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะติดลบ 2.8% โดยคาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค.56 จะติดลบอยู่ที่ประมาณ 6-7% เนื่องจากโครงการรถยนต์คันแรกสิ้นสุดแล้วและส่งมอบหมดแล้ว

ภาวะการผลิตรายอุตสาหกรรมของปี 2556 ที่สำคัญ มีดังนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ 11 เดือนแรกปี 2556 ขยายตัว 4.09% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณการส่งออกขยายตัวไปประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยการส่งออกเพิ่มขึ้น 10.13% แต่การจำหน่ายในประเทศลดลง 5.36% แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ ปี 2557 การผลิตจะมีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,600,000 คัน เพิ่มขึ้น 3.75% แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศประมาณ 1,300,000 คัน ลดลง 0.69% และการส่งออกรถยนต์ประมาณ 1,300,000 คัน เพิ่มขึ้น 15.97%

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาพรวม 11 เดือนแรกปี 2556 มีการปรับตัวลดลง 6.05% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลง 6.71% จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ความต้องการคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ/โน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลงอย่างมาก สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลง 3.05% โดยส่วนใหญ่เป็น

กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่มี การปรับตัวลดลง ส่วนแนวโน้มปี 2557 ในภาพรวมคาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-3%

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทย 11 เดือนของปี 2556 ขยายตัว 5.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตชะลอตัวลงเล็กน้อย 1.96% โดยเป็นผลมาจากตลาดเหล็กในประเทศช่วงครึ่งหลังของปี 2556 มีทิศทางที่ทรงตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล บรรจุภัณฑ์ ในปี 2557 คาดการณ์ว่าแนวโน้มระดับความต้องการใช้เหล็กของไทย จะเผชิญกับความผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจมหภาคของประเทศสถานการณ์ทางการเมือง และแนวโน้มตลาดในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็ก

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภาพรวม 11 เดือนของปี 2556 ขยายตัวได้ดีทั้งการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก ส่งผลให้การนำเข้าเส้นใยสิ่งทอฯ ปรับลดลง สำหรับในกลุ่มผ้าผืน ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าผ้าผืนราคาถูกจากจีน และในกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ส่วนแนวโน้มปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวได้ในส่วนของการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และผ้าผืน เพื่อสนองความต้องการโดยเฉพาะผู้ผลิตในอาเซียน และญี่ปุ่น ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป การผลิตจะขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2556

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตอุตสาหกรรมอาหารของปี 2556 การผลิตในภาพรวมคาดว่าปรับตัวลดลงจากปีก่อน 0.1% ส่วนการส่งออกในภาพรวมลดลง 6.2% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ส่วนแนวโน้มปี 2557 คาดว่า ในภาพรวมการผลิตจะขยายตัวประมาณ 1-2%

ทั้งนี้ สศอ.ได้ประมาณการปี 2557 GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 3.0-4.0% จากก่อนหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.8% ขณะที่ดัชนี MPI คาดว่ายังขยายตัวได้ 2.0% ปัจจัยบวก คือ เศรษฐกิจโลกที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกของไทย ปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตในปีหน้า จะได้แรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐ และ แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเนื่อง ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีจำกัดโดยราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญในตลาดโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร ภาครัฐเบิกจ่ายเงินต่ำกว่าที่คาดไว้ อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น

สำหรับประมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัว 3.75% หรืออยู่ในระดับ 2.6 ล้านคันจากปีนี้ที่คาดว่าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดจะอยู่ที่ 2.5 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1.3 ล้านคันลดลง 0.69% และส่งออกรถยนต์ 1.3 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 15.97% ซึ่งสาเหตุที่การจำหน่ายในประเทศจะลดลง เนื่องจากหมดโครงการรถยนต์คันแรกทำให้ตลาดสว่นใหญ่จะมุ่งไปสู่การส่งออกแทน ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะขยายตัว 2%

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปี 2557 คาดการณ์ว่าแนวโน้มระดับความต้องการใช้เหล็กของไทยจะเผชิญกับความผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองและแนวโน้มตลาดในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็ก ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 2557 จะขยายตัวได้ในส่วนของการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯและผ้าผืนเพื่อสนองความต้องการอาเซียน ญี่ปุ่น ฯลฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ