ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินเป็นเรื่องทิศทางการไหลของเงินทุนต่างประเทศก่อนถึงสัปดาห์หน้า และสถานการณ์การเมืองในประเทศที่กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) นัดชุมนุมใหญ่ปิดกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 ม.ค.57 ว่าจะเกิดความรุนแรงหรือไม่ รวมถึงรอดูความชัดเจนเรื่องมาตรการ QE
นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.00-33.10 บาท/ดอลลาร์
- ปัจจัยสำคัญ
- เช้านี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 104.90 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 104.95/96 เยน/ดอลลาร์
- ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3578 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.3606/3609 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ 33.0560 บาท/ดอลลาร์
- ธปท.เผยตลอดปี 56 ต่างชาติขายหุ้นนำเงินออกจากไทย 6 พันล้านดอลล์ หรือประมาณ 1.97 แสนล้านบาท ขายพันธบัตรออกไปเล็กน้อย ชี้ต่างชาติไม่ถอนทุนออกจากไทย เพราะต่างชาติยังเหลือเงินลงทุนในพันธบัตรกว่า 10% และหุ้นเหลืออยู่ถึง 30% และเม็ดเงินลงทุนโดยตรงของฝรั่งยังมาก กว่าคนไทยไปลงทุนนอก ระบุเงินบาทอ่อนจะเข้าไปดูแลบ้างถ้าผันผวนหนักพร้อมทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 57 ใหม่
- กระทรวงการคลัง เผยหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ต.ค.56 มีจำนวน 5,373,818.67 ล้านบาท อยู่ที่ 45.28% ต่ำกว่า เดือน ก.ย.56 อยู่ที่ 45.86%
- นายศุกรีย์ สิทธิวณิช รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเผยถึงผลกระทบจากเหตุการณ์การชัตดาวน์ กรุงเทพฯ ในวันที่ 13 ม.ค.นี้ว่า จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ลดลง5% สูญเสียรายได้ 12,000 ล้านบาท โดยกลุ่มประเทศที่ลดมากที่สุดจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางระยะใกล้ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย เนื่องจากเดินทางใช้เวลาไม่นานและตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวที่ใช้เดินทางได้ง่าย ดังนั้น ททท.จึงคาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้จะมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 29.6 ล้านคน เติบโต 17.7% จากปี 2556 และทำรายได้จากการท่องเที่ยว 1.43 ล้านล้านบาท เติบโต 11.7%
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน(NBS) เผยดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ของจีนในเดือน ธ.ค.56 ขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งลดลงจาก 3.0% ในเดือน พ.ย.56 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต(PPI) ของจีนลดลง 1.4% เมื่อเทียบรายปี โดยเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 22 ติดต่อกัน แต่ตัวเลข PPI ในเดือน ธ.ค.56 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน พ.ย.56 โดยดัชนี MSCI Asia Pacific ปรับตัวลดลง 0.4% แตะที่ระดับ 139.30 จุด เมื่อเวลา 09.30 น.ตามเวลาโตเกียว
- สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 ม.ค.) หลังจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่ของเฟดให้การสนับสนุนการปรับลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และส่งสัญญาณว่าอาจจะลดขนาดมาตรการ QE ลงอีกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 104.82 เยน จากระดับของวันอังคารที่ 104.48 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 0.9109 ฟรังค์ จากระดับ 0.9086 ฟรังค์ ส่วนยูโรอ่อนค่าลงแตะระดับ 1.3578 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.3618 ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะ 0.8907 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8922 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะ 1.6447 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6407 ดอลลาร์สหรัฐ
- China Foreign Exchange Trading System (CFETS) รายงานว่า เงินหยวนอ่อนค่าลง 0.30% แตะที่ 6.1109 หยวนต่อดอลลาร์เช้าวันนี้
- ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่ของเฟดให้การสนับสนุนการปรับลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่าเฟดอาจจะตัดสินใจยุติมาตรการ QE เมื่อพิจารณาจากการประเมินเศรษฐกิจในด้านบวก
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้(8 ม.ค.) เนื่องจากข้อมูลด้านการจ้างงานที่แข็งแกร่งของภาคเอกชนสหรัฐ ทำให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX(Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ก.พ.ร่วงลง 4.1 ดอลลาร์ หรือ 0.33% ปิดที่ 1,225.5 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1231.8-1217.7 ดอลลาร์ ส่วนสัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือน มี.ค.ลดลง 24.8 เซนต์ ปิดที่ 19.539 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือน เม.ย.ร่วงลง 1.2 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,414.2 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือน มี.ค.ร่วงลง 738.30 ปิดที่ 3.40 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส(WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้(8 ม.ค.) หลังจากสำนักงานสารนิเทศด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ(EIA) รายงานว่า สต็อกน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของอุปสงค์พลังงานภายในประเทศ โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.พ.ร่วงลง 1.34 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 92.33 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือน ก.พ.ที่ตลาดลอนดอน ลดลง 20 เซนต์ 0.2% ปิดที่ 107.15 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้(8 ม.ค.) ท่ามกลางภาวะการซื้อขายที่ซบเซา หลังจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่ของเฟดให้การสนับสนุนการปรับลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ขณะที่นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์นี้ โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 68.20 จุด หรือ 0.41% ปิดที่ 16,462.74 จุด ดัชนี S&P 500 ขยับลง 0.39 จุด หรือ 0.02% ปิดที่ 1,837.49 จุด ดัชนี Nasdaq ลดลง 12.43 จุด หรือ 0.30% ปิดที่ 4,165.61 จุด