เงินบาทปิดตลาด 32.94/95 จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ-Fund Flow

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 3, 2014 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.94/95 บาท/ดอลลาร์ จากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 33.00/02 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามภูมิภาค โดยระหว่างวันเงินบาทไปทำโลว์ที่ระดับ 32.85 บาท/ดอลลาร์
"เปิดตลาดมาทำไฮของวันก่อน ที่มีแรงขายดอลลาร์ออกมาเยอะเหมือนเป็น panic sale หลังจากนั้นก็มีลูกค้าเข้ามาซื้อบาทเพราะลงมาต่ำกว่าเมื่อสามวันก่อน ทำให้ขยับมาถึง 32.97(บาท/ดอลลาร์)" นักบริหารเงิน กล่าว

ปัจจัยที่ตลาดจับตามองเป็นเรื่องการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ และกระแสเงินทุนต่างประเทศ ส่วนเรื่องการเมืองในประเทศหากยังไม่มีเหตุรุนแรงก็จะทำให้ตลาดคลายความกังวลลง

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ระหว่าง 32.80-33.00 บาท/ดอลลาร์

"ปัจจัยตอนนี้เป็นเรื่อง flow และตัวเลขเศรษฐกิจอเมริกา ส่วนการเมืองบ้านเราคงเอาวางไว้ข้างๆ จนกว่าจะมีเหตุ" นักบริหารเงิน กล่าว
  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 101.88 เยน/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงเช้าที่ระดับ 102.24 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.3511 ดอลลาร์/ยูโร แข็งค่าจากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3480 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,292.81 จุด เพิ่มขึ้น 18.53 จุด, +1.45% มูลค่าการซื้อขาย 25,817.79 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 3,009.64 ล้านบาท(SET+MAI)
  • กระทรวงพาณิชย์ คาดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 57 อยู่ในกรอบ 2.00-2.80% ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยเติบโตในระดับ 3-5%
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/57 น่าจะหดตัวลงร้อยละ 0.6(QoQ, s.a.) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และขยายตัวในระดับที่ต่ำมาก เพียงร้อยละ 0.7(YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งแม้จะดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 4/56 แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 57 ที่ในขณะนี้ยังคงมองกรอบคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.2-3.7
  • ดอลลาร์ยังเคลื่อนไหวคงที่ต่ำกว่ากรอบ 102 เยนในการซื้อขายเช้านี้ที่ตลาดปริวรรตเงินตราโตเกียว ขณะตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่ โดยเมื่อเที่ยงวันนี้ตามเวลาญี่ปุ่น ดอลลาร์เคลื่อนไหวที่ 102.36-102.38 เยน เมื่อเทียบกับ 101.96-102.06 เยนที่ตลาดนิวยอร์ก และ 102.48-102.50 เยนที่ตลาดโตเกียวเมื่อเวลา 17.00 น.ในวันศุกร์
  • นายปิแอร์ มอสโกวิซี รมว.คลังของฝรั่งเศส กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวระหว่าง 0.1% และ 0.2% ตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวเล็กน้อยในไตรมาสที่ 3
  • นายมาริอาโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีของสเปน ได้ให้คำมั่นสัญญาต่อที่ประชุมพรรคป็อปปูลาร์(พีพี) ว่า จะเดินหน้าผลักดันมาตรการปฏิรูปการคลังในระยะเวลา 2 ปีที่เขายังคงดำรงตำแหน่งผู้นำสปน
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปิดลดลงในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและหันเข้าซื้อพันธบัตรซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ในช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 332 ซึ่งเป็นมาตรวัดดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.615% ลดลง 0.005% จากระดับปิดเมื่อวันศุกร์ ส่วนราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปีส่งมอบเดือน มี.ค.57 ปรับตัวขึ้น 0.14 จุด แตะที่ 144.78 จุดที่ตลาดหุ้นโตเกียว
  • มาร์กิต อีโคโนมิคส์ เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.0 ในเดือน ม.ค.57 จากระดับ 52.7 ในเดือน ธ.ค.56 โดยดัชนีที่มีการเปิดเผยล่าสุดถือเป็นการยืนยันให้เห็นว่า ภาคการผลิตของยูโรโซนขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค.54 โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนปรับตัวขึ้นตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา และส่งสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.ค.ปีที่แล้ว โดยภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นได้รับปัจจัยหนุนจากการขยายตัวแข็งแกร่งของผลผลิต คำสั่งซื้อใหม่ และคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ ซึ่งล้วนปรับตัวขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย.54 หลังจากดัชนี PMI ของกรีซหวนกลับสู่การขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ส.ค.52 ขณะที่ภาคการผลิตในเยอรมนี อิตาลี สเปน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย และไอร์แลนด์ ต่างก็ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในเดือนที่แล้ว
  • มาร์กิต อีโคโนมิคส์ เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของฝรั่งเศส ปรับขึ้นสู่ระดับ 49.3 ในเดือน ม.ค.57 จากระดับ 47.0 ในเดือน ธ.ค.56 โดยดัชนีเดือน ม.ค.57 เป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน บ่งชี้ว่า ภาวะหดตัวในภาคการผลิตเริ่มคลี่คลายในช่วงเริ่มต้นปี 2557
  • มาร์กิต อีโคโนมิคส์ เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตของเยอรมนี ปรับตัวขึ้นแตะ 56.5 ในเดือน ม.ค.57 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 32 เดือน จากระดับ 54.3 ในเดือน ธ.ค.56 และบ่งชี้ว่า สภาวะการดำเนินธุรกิจในภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในช่วงเริ่มต้นปี 2557

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ