(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.อยู่ที่ 69.9

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 6, 2014 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนก.พ. 57 อยู่ที่ 69.9 โดยเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 11 โดยระดับที่ 69.9 ในเดือนก.พ. 57 ถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 148 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย.44

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 59.7, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 63.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 86.3

ปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง การปิดสถานที่สำคัญต่างๆ, ผลการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ที่ไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้ครบทุกเขต ส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศล่าช้า, การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกระทบต่อความเชื่อมั่นในด้านการบริโภค การลงทุนและท่องเที่ยว, สภาพัฒน์ฯ ปรับลด GDP ปี 57 เหลือ 3-4% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 4-5%, ความล่าช้าในการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว, การส่งออกเดือนม.ค.ลดลง 2% , ผู้บริโภค ยังกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูง

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ยังอยู่ในระดับทรงตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี 4 เดือน มีสาเหตุสำคัญจากสถานการณ์ทางการเมืองซึ่งถือเป็นตัวบั่นทอนภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างสูง ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งสัญญาณแบบนี้จะเป็นตัวบั่นทอนกำลังซื้อลงไปเรื่อยๆ และยังกังวลว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะแย่ลงเป็นลำดับ รวมทั้งเป็นห่วงการจ้างงานในอนาคต ซึ่งอาจจะทำให้นักศึกษาที่จบใหม่อาจจะหางานในยากขึ้น

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปลายไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นอย่างน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงยังไม่มีสัญญาณปรับฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าจะดีขึ้นเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะผู้บริโภคมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองไทย ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตลอดจนค่าครองชีพที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง

"กำลังซื้อคงจะซึมตัวจนถึงปลายไตรมาส 2 และต้องดูว่าจะมีรัฐบาลได้เมื่อไร ซึ่งหากมีรัฐบาลใหม่ได้ในไตรมาส 2 ความเชื่อมั่นฯ ก็คงจะกลับมาได้ในช่วง พ.ค.-มิ.ย. แต่การจับจ่ายใช้สอยน่าจะยังซึมตัวไปจนถึงครึ่งปี...ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ต่ำสุดในรอบกว่า 12 ปี ถือว่าน่ากังวล และเป็นสัญญาณที่อันตราย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ จะมีการปรับตัวเลข GDP และตัวเลขเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในวันที่ 20 มี.ค.นี้" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า เริ่มเห็นสัญญาณการบริโภคที่ซึมตัวลงมาก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มซึมตัวลงตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มเห็นสัญญาณภาวะถดถอย ส่วนการลงทุนภาครัฐก็ไม่มีการลงทุนใหม่เกิดขึ้น เนื่องจากครม.ไม่สามารถอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ๆ ได้ การส่งออกไทยก็ยังไม่โดดเด่น และไม่สามารถฉกฉวยโอกาสจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกขึ้นมาได้ ซึ่งกว่าการส่งออกจะฟื้นตัวอาจเป็นช่วงไตรมาส 2 ถ้าไม่มีวิกฤติการณ์รัสเซียและยูเครน

จากปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยหลายตัวเริ่มน่าเป็นห่วง ดังนั้นโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะโตได้ 4-5% จึงแทบจะไม่มีความเป็นไปได้แล้ว ขณะที่โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3-4% ก็มีความเป็นไปได้เพียงแค่ 40% ดังนั้นจึงทำให้ในเบื้องต้นคาดว่าในปีนี้มีความเป็นไปได้มากสุดที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้เพียง 2-3% เท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองขาดเสถียรภาพ การลงทุนของภาครัฐทำได้ต่ำกว่าแผนที่วางไว้อย่างมาก ขณะที่ประชาชน นักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างขาดความเชื่อมั่น

"เครื่องจักรของเศรษฐกิจไทยเกือบดับแทบทุกตัว นี่คือความเสี่ยง และเป็นเหตุผลที่ทำให้เราให้น้ำหนักมากขึ้นที่จะมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้ 2-3% ซึ่งมีโอกาสจะเป็นไปได้มากสุดถึง 55%" นายธนวรรธน์ กล่าว

โดยสิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อประคองเศรษฐกิจไทยคือ 1. การเร่งให้เม็ดเงินจากโครงการจำนำข้าวอย่างน้อย 3 หมื่นล้านบาทลงถึงมือชาวนาได้เร็วที่สุด ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินจำนวนนี้เข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจซึ่งจะเป็นตัวทวีคูณอีก 1.5 เท่า หรือเทียบเท่ากับเม็ดเงินที่จะลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 4.5 หมื่นล้านบาท ช่วยเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ และที่สำคัญช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้อีกอย่างน้อย 0.2%

2.หากรัฐบาลสามารถยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็จะช่วยสนับสนุนบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศให้ดีขึ้นได้ และ 3.การเร่งเบิกจ่ายเงินในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และรัฐวิสาหกิจต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ