(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 2.5% จาก 4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 20, 2014 12:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้เหลือโต 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 4.5% อัตราเงินเฟ้อที่ 2.3% และคาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 4.8% โดยปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจไทย ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

"อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย(GDP) ปีนี้เหลือโต 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 4.5% โดยให้กรอบการขยายตัวไว้ที่ 2.0-3.0% ซึ่งโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

โดยมีสมมติฐานว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ 2.5% มาจากสถานการณ์ทางการเมืองได้คลี่คลาย และสามารถมีรัฐบาลใหม่ในช่วงกลางปี ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเริ่มจะกลับมา ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชน นักธุรกิจ และนักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง โดยระดับความน่าจะเป็นของสมมติฐานนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุดถึง 65%

"หากในเดือนพฤษภาคมมีนายกฯ มีรัฐบาลใหม่ที่เป็นตัวจริง และสามารถขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป และเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้เร็ว เศรษฐกิจไทยปีนี้ก็มีโอกาสโตได้เกิน 3% และในทางกลับกันหากการเมืองยังไม่นิ่ง ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในกรกฎาคม ประชาชนขาดความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจไทยปีนี้ก็มีโอกาสโตได้ต่ำกว่า" นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ คาดว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกจะโตได้เพียง 0-1% และครึ่งปีหลังโตได้ 4-5% ซึ่งจะทำให้ทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 2-3% หรือเฉลี่ยที่ 2.5% ซึ่งจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในช่วงปลายไตรมาส 2

สำหรับปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ การฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกที่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป, เศรษฐกิจในเอเชียยังขยายตัวในระดับสูง, รัฐบาลใช้นโยบายการเงินโดยให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียง 2.0% และธุรกิจ 3G และ Digital TV สนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนไทย

ขณะที่ปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ เสถียรภาพทางการเมืองไทยยังมีความไม่แน่นอน, ความไม่แน่นอนในการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีสูง, ความล่าช้าของการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ, ปัญหาภัยแล้ง, ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และต้นทุนการผลิต-ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การที่ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้จะลดลงจากเดิมถึง 2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ในเดือน ธ.ค.56 เป็นเพราะมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเป็นเม็ดเงินราว 4.2 แสนล้านบาท จากภาวะการเมืองในประเทศที่ไม่นิ่งนับตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยช่วงประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ คาดว่าเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 2-4 หมื่นล้านบาท/เดือน และเพิ่มเป็นเดือนละ 5 หมื่นล้านบาทในช่วงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ขณะที่เม็ดเงินจากการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคลดลงไปราว 2 หมื่นล้านบาท/เดือน รวมทั้งโครงการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการบริหารจัดการน้ำ ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ได้ราว 1 แสนล้านบาทก็หายไปจากระบบด้วย ซึ่งส่งผลต่อเม็ดเงินจากการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน ดังนั้นจึงทำให้คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกนี้จะมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นราว 2.5 แสนล้านบาท

"การประเมินดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานว่ายังไม่สามารถมีรัฐบาลใหม่ได้ภายในครึ่งปีแรก โดยคาดว่าจะมีรัฐบาลใหม่ได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้มองว่าการส่งออกจะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาส 2 ซึ่งหลังจากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วส่งผลดีขึ้นในด้านจิตวิทยา การท่องเที่ยวเริ่มเงยหัวตั้งแต่ไตรมาส 2 การบริโภคการลงทุนจะกลับมาในช่วงครึ่งปีหลังหากการเมืองคลี่คลาย" นายธนวรรธน์ กล่าว

ด้านนายสุวิสุทธิ ศิริวัฒนกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงการส่งออกไทยในปีนี้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 4.8% ที่มูลค่าประมาณ 239,000 ล้านบาท ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะเติบโตได้ 5.0% ที่มูลค่า 263,000 ล้านบาท ขาดดุลการค้าราว 24,000 ล้านบาท โดยในปีนี้ได้สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าเป็นตัวช่วยหนุนภาคการส่งออกให้ฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปีคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.2-2.7% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3% อัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ในกรอบ 32.00-33.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งมีแนวโน้มจะอ่อนค่าจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้มีการดึงเงินกลับประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ที่การเมืองไทยมีความไม่แน่นอนจึงทำให้นักลงทุนไม่ถือเงินบาทเพื่อเป็นการลดความเสี่ยง จึงทำให้ภาพรวมในปีนี้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า

"ส่งออกปีนี้น่าจะเติบโตได้ 4.8% ที่มูลค่าใกล้ๆ 2.4 แสนล้านบาท โดยได้บาทอ่อนเป็นตัวช่วยหนุนการส่งออกไทย เพราะปีนี้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า และมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าปีก่อน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น" นายสุวิสิทธิ ระบุ

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลประมาณ 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น -1% ของ GDP ขณะที่คาดว่าปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทย 27.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.8% คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวราว 1,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.5%

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 104-109 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐ และยุโรป ตลอดจนมีการเทขายทำกำไรหลังจากที่สหรัฐฯ ลดมาตรการ QE


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ