ม.หอการค้าฯคาดศก.ภูมิภาคปีนี้โต 2.5% การค้าชายแดนหนุน-การเมืองยังกดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 20, 2014 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคในปี 57 โดยคาดว่าเศรษฐกิจภูมิภาคจะเติบโตได้ 2.5% ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคจะมีการเติบโตดังนี้ ภาคกลาง(รวมภาคตะวันออก-ตะวันตก) โต 3.2%, กทม.และปริมณฑล โต 2.4%, ภาคใต้ โต 2.0%, ภาคเหนือ โต 1.9% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โต 1.5%

โดยปัจจัยบวกที่ยังช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ การค้าชายแดน, จำนวนนักท่องเที่ยว, การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มมีการฟื้นตัว ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาการเมืองขาดเสถียรภาพ, ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, แนวโน้มราคาพืชผลทางการเกษตรชะลอตัวลง, ปัญหาภัยธรรมชาติ, ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่สูงขึ้น และงบประมาณการลงทุนภาครัฐที่ยังล่าช้า เป็นต้น

ขณะที่ผลสำรวจผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ต่อเศรษฐกิจของ SMEs ในปี 57 คาดว่าภาคเกษตร จะโตได้ 2.7% ส่วนนอกภาคเกษตร จะโตได้ 2.5% สำหรับความเห็นที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน(มี.ค.57) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้ประกอบการโดยรวมมองว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด คือ ยอดขายที่ลดลง รองลงมา คือ สภาพคล่องของธุรกิจลดลง และกำไรสุทธิลดลง

ส่วนแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง ภายใต้สมมติฐานว่าการเมืองมีเสถียรภาพแล้วนั้น พบว่า ส่วนใหญ่ยังคงมองว่ากำไรสุทธิ และยอดขายยังคงลดลง ขณะที่ต้นทุน/ค่าใช้จ่ายยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่การปลดคนงาน, การจ้างงาน, สภาพคล่องของธุรกิจ และความสามารถในาการชำระหนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่ นโยบายส่งเสริม SMEs ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง, สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น, อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และความต้องการสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมือง, ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง, การเข้ามาแข่งขันของคู่แข่งจากต่างประเทศและคู่แข่งรายใหญ่, จำนวนนักท่องเที่ยวชะลอตัวลง และผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ