(เพิ่มเติม) ธปท.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 57 เหลือโต 2.7% ก่อนฟื้นโต 4.8% ในปี 58

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 21, 2014 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานนโยบายการเงินว่า ธปท.ได้มีการปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในปี 57 ลงเหลือเติบโตเพียง 2.7% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 3% และคาดการณ์ GDP ปี 58 จะเติบโตเพิ่มเป็น 4.8% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ชะลอลงตามอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอในช่วงครึ่งปีแรก ร่วมถึงการส่งออกที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังยืดเยื้อ

ทั้งนี้ ธปท.ระบุว่าการคาดการณ์ในครั้งนี้ ยังไม่ได้รวมเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะทบทวนคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในปีนี้อีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้น ธปท.มองว่าหากสถานการณ์ทางการเมืองไม่สามารถคลี่คลายได้ในช่วงกลางปีนี้ ก็มีความเสี่ยงในด้านลบที่ GDP ในปีนี้จะเติบโตต่ำกว่า 2.7%

"อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่ำในช่วงครึ่งแรกของปี ขณะที่การส่งออกมีบทบาทขับเคลื อนเศรษฐกิจมากขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ หากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศคลี่คลายได้ภายในกลางปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะกลับมาขยายตัวได้ตามปกติในปี 58"ธปท.ระบุ

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.เปิดเผยว่า การปรับลด GDP ปีนี้ลงเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีแรกจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความยืดเยื้อ ทำให้สมมติฐานในกรณีฐานที่ ธปท.คาดว่าการเมืองจะคลี่คลายได้ภายในกลางปีนี้ และการส่งออกที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตได้ตามที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นตามการปรับราคาก๊าซ LPG แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ากลางของเป้าหมายนโยบายการเงิน

ส่วนอุปสงค์ภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงเป็นผลจากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่หมดลง เพราะประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นลดลงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ โดยยอมรับว่ามีความเสี่ยงด้านลบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีมากกว่าด้านบวก หากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อไปจนถึงครึ่งหลังของปีนี้ จนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนอาจจะชะลอลงมากกว่าที่ประเมินไว้ และมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ 2.7%

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ในด้านเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจการเงินยังคงต้องติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ยังมีความเสี่ยงว่าจะผันผวน จากการปรับนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศหลัก รวมถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่บางประเทศ ทำให้การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากขึ้น อีกทั้งยังต้องติดตามสัญญาณการด้อยลงของคุณภาพหนี้ครัวเรือน เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอาจส่งผลกระทบต่อรายได้และการชำระหนี้ภาคครัวเรือนได้ ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ลดลงบ้าง

ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินนั้น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเรื่องที่คาดเดายาก เพราะการพิจารณาใช้ดอกเบี้ยนโยบายเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มในระยะข้างหน้า ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า จึงไม่สามารถทราบได้ว่าในระยะข้างหน้าการเมืองจะมีความไม่แน่นอนไปในทิศทางใด ช้าหรือเร็ว และจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามและยากที่จะคาดการณ์ได้

นายไพบูลย์ ยังเชื่อว่าตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่โต 2.7% นั้น จะมีแรงส่งจากภาคการส่งออกที่คาดว่าปีนี้จะโตได้ 4.5% เป็นหลัก รวมทั้งการท่องเที่ยวที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่ค่อยดีมากนัก นอกจากนี้ ยังมีแรงกระตุ้นทางการคลังที่อาจทำได้จำกัด โดยธปท.ประเมินว่าการใช้จ่ายภาครัฐที่ได้รับผลกระทบจากการยุบสภา ทำให้อัตราการเบิกจ่ายเงินในงบประมาณปี 57 จะอยู่ที่ 90.5% การจัดทำงบประมาณปี 58 คาดว่าจะล่าช้าออกไปอีก 1 ไตรมาส

ประกอบกับ พ.ร.ก.การบริหารจัดการน้ำ จะเหลือเฉพาะโครงการเร่งด่วนที่ได้รับการอนุมัติเงินกู้แล้ว เช่น ขุดลอกคูคลอง ซ่อมถนน รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เหลือเฉพาะโครงการต่อเนื่องเดิมของรัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมประมาณ 25% ของวงเงินรวม เป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจปีนี้โตได้ตามคาด โดยสมมติฐานรายจ่ายนอกงบประมาณในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปี 57 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ส่วนรายจ่ายตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการปรับราคาก๊าซ LPG โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 1.5% เพิ่มขึ้นจากปี 56 ที่อยู่ในระดับ 1% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 2.5% จากปี 56 ที่อยู่ในระดับ 2.2% ถือว่ายังต่ำกว่าค่ากลางของเป้าหมายนโยบายการเงิน จึงไม่มีแรงกดดันต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจมากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ