(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค. อยู่ที่ 68.8

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 3, 2014 13:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนมี.ค. 57 อยู่ที่ 68.8 โดยดัชีความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลงทุกรายการและปรับลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และถือว่าต่ำสุดในรอบ 149 เดือน นับตั้งแต่พ.ย. 44 จากปัญหาเกี่ยวกับความกังวลการเมืองและเศรษฐกิจไทย

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 58.7, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 62.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 84.9

สำหรับปัจจัยลบ ประกอบด้วย ความกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง การปิดสถานที่สำคัญในกทม., ศาลรัฐธรรมนูญมีมติร่างพ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทขัดรัฐธรรมนูญ, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลด GDP ปี 57 เหลือ 2.7% จากเดิมคาด 3% เช่นเดียวกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ปรับลด GDP ลงเหลือ 2.6% จากเดิมคาด4% , ความล่าช้าของการจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าว, ความกังวลเกี่ยวกับราคาพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัวระดับต่ำ และผู้บริโภคกังวลค่าครองชีพที่ทรงตัวในระดับสูง

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.0%,ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าเล็กน้อย , การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าการบริโภคของภาคประชาชนยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นอย่างน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงยังไม่มีสัญญาณปรับฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลายลงเมื่อไร เพราะผู้บริโภคมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองไทย ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตลอดจนค่าครองชีพที่ทรงตัวในระดับสูง

พร้อมระบุว่า ขณะนี้ประชาชนเริ่มไม่มีความมั่นใจกับรายได้ในอนาคต โดยมีความรู้สึกว่าข้าวของมีราคาแพงขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจเองต้องเริ่มปรับตัวด้วยการหันมาทำโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมมากขึ้น รวมทั้งการลดดอกเบี้ยเหลือ 0% หรือการผ่อนในอัตราที่น้อยลงต่องวด เป็นต้น

นายธนวรรธน์ มองว่าการบริโภคจะฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 3 ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ามีรัฐบาลใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยยังมีปัจจัยหนุนที่พอจะช่วยได้คือ การที่รัฐบาลจะแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินจากธุรกิจต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยผ่านการอนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้ในระดับหนึ่ง หลังจากที่โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาทไม่สามารถขับเคลื่อนได้ตามแผนที่วางไว้

“การลงทุนภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 หลังจากนโยบายของรัฐบาลเริ่มชัดเจน และมีเม็ดเงินเข้ามาจากงบประมาณของรัฐที่เข้ามาตามปกติ แต่เงื่อนไขนี้อยู่ภายใต้การมีรัฐบาลใหม่ภายในครึ่งปีหลัง" นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความน่ากังวลมากขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อความอ่อนแอและเปราะบาง เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีแนวโน้มเป็นขาลง โดยมีผลมาจากความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะความกังวลต่อปัญหาทางการเมืองในประเทศ และเริ่มไม่มั่นใจว่าจะมีรัฐบาลใหม่ได้ภายในช่วงกลางปีนี้ ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมือง

“น่ากังวลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีความอ่อนแอและเปราะบาง โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ต่ำกว่า 2% มีความเป็นไปได้มากขึ้น...มองบรรยากาศตอนนี้ใกล้ๆ กับช่วงการฟื้นตัวหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง" นายธนวรรธน์ กล่าว

โดยมองว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันใกล้เคียงกับช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งในช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยติดลบ 1.37% ขณะที่ในปีนี้ปัญหาการเมืองส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อทั้งภาคการท่องเที่ยว, การส่งออก, การบริโภค และการลงทุน ซึ่งเครื่องจักรแต่ละตัวที่ช่วยในการพยุงเศรษฐกิจไทยถือว่าแผ่วลงไปมาก

อย่างไรก็ดี หากปัญหาการเมืองในประเทศยังไม่คลี่คลาย และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตไในระดับใกล้เคียง 0% และมีโอกาสติดลบได้ ดังนั้นจุดสำคัญของเศรษฐกิจไทย คือการมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะปัจจุบันนี้ปัญหาเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความเชื่อมั่น

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 2.5% จากที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกมีโอกาสเติบโต 0% หรือ -0.5% ขณะที่ครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตได้ 5% หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศได้ แต่หากการเมืองยังไม่นิ่ง รัฐบาลยังไม่สามารถจัดตั้งได้ งบประมาณไม่เดินหน้า แนวนโยบายใหม่ยังไม่มี ความวุ่นวายทางการเมืองยังมีขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวชะลอการท่องเที่ยว และอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้โตใกล้เคียงกับ 0% หรือมทีโอกาสติดลบได้มากขึ้น ขณะที่ปี 58 มองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้ 4-5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ