เสียงส่วนใหญ่ฟันธง กนง.รอบนี้คงดอกเบี้ยนโยบายรอความชัดเจนทางการเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 22, 2014 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ทุกสำนักประสานเสียง กนง.23 เม.ย.นี้จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ 2.00% หลังจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองไทยยังไม่มีปัจจัยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญจากการประชุม กนง.รอบก่อน แต่กลางปีอาจได้เห็นดอกเบี้ยลดลงมาเหลือ 1.75%

ขณะที่มีเพียง บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่ามีโอกาสที่กนง.รอบนี้จะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สวนทางความเห็นส่วนใหญ่ของตลาด

               สถาบัน                           อัตราดอกเบี้ย(R/P)          คง/ลด
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                            2.00%                  คง
          บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)                      2.00%                  คง
          ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย)              2.00%                  คง
          บล.ฟินันเซีย ไซรัส                           2.00%                  คง
          บล.เอเชียพลัส                              2.00%                  คง
          บล.โนมูระ พัฒนสิน                           1.75%                  ลด

น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าการประชุม กนง.รอบนี้น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 2.00% เนื่องจากการประชุมรอบที่ผ่านมาในเดือนมี.ค. กนง.เพิ่งปรับลดไปแล้ว 0.25% จากการให้น้ำหนักทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

โดยในช่วงนี้เป็นจังหวะสำหรับการติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งมองว่าสถานการณ์ยังไม่แตกต่างจากรอบที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ, ความเสี่ยงของเงินทุนเคลื่อนย้าย, อัตราเงินเฟ้อ, หนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังพอจะสามารถบริหารจัดการได้ ดังนั้นจึงยังมีพื้นที่ให้ กนง.สามารถคงนโยบายผ่อนคลายได้อย่างต่อเนื่อง

"รอบก่อนลดไปแล้ว กนง.คงได้มีการบริหารจัดการไปแล้วระดับหนึ่ง อีกทั้งในรอบนี้ยังไม่ได้มีข้อมูลใหม่เพิ่มเข้ามาที่จะเป็นนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจใดๆ จึงมองว่า กนง.วันที่ 23 เม.ย.นี้ น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ก่อน" น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

ส่วนสถานการณ์ในระยะต่อไป คงต้องติดตามว่าปัจจัยทางการเมืองจะเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นและมีผลต่อมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ยังพอมีเวลาให้ กนง.ได้ติดตามสถานการณ์ ประกอบกับรอทิศทางตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ให้มีความชัดเจนมากขึ้นกว่านี้ เพื่อไว้สำหรับใช้ประกอบเป็นข้อมูลการตัดสินใจในการประชุมกนง.ในช่วงเดือนมิ.ย.ต่อไป

นายปรากรม ปฐมบูรณ์ นักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 23 เม.ย.นี้ กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 2.00% โดยจะยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในรอบนี้ เนื่องจาก กนง.เพิ่งลดดอกเบี้ยไปแล้ว 0.25% ในรอบที่ผ่านมา

"คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยรอบนี้ เพราะรอบก่อนลดไปแล้ว และคงรอดูตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ก่อนที่จะประกาศวันที่ 19 พ.ค.เราคาดว่า GDP ไตรมาส 1 มีโอกาสจะติดลบเล็กน้อย หรือใกล้เคียงกับ 0% รวมทั้งรอดูสถานการณ์ทางการเมืองด้วย ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไหลลงไปมากขนาดไหน" นายปรากรม กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

หลังจากนี้ไป กนง.คงจะพิจารณาปัจจัยประกอบจากตัวเลขเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ของเดือนมี.ค.ที่แต่ละหน่วยงานจะทยอยประกาศในช่วงสิ้นเดือนเม.ย.นี้ด้วยว่าจะลดลงต่อเนื่องอีกหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มแล้วเชื่อว่าจะลดลงเกือบทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นยอดการส่งออก, ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(MPI), การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภาคเอกชน เป็นต้น

ขณะที่คาดว่าสิ้นเดือนพ.ค.จะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจของเดือนเม.ย.ที่จะแย่ลงอีก ดังนั้นจึงน่าจะมีผลให้ กนง.ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในการประชุมรอบถัดไปคือช่วงเดือน มิ.ย. ซึ่งจะทำให้เห็นอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% ในช่วงกลางปีนี้

นายปรากรม มองว่า ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ คือการมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งหากภายในไตรมาส 3 ปีนี้ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของประเทศได้แล้ว ก็เชื่อว่ามีโอกาสจะเห็นดอกเบี้ยนโยบายลดลงไปเหลือ 1.50% ได้ในช่วงปลายปี หรือในการประชุม กนง.รอบวันที่ 5 พ.ย. หรือ 17 ธ.ค.57

"ถ้าเรายังไม่มีรัฐบาลใหม่จนถึงไตรมาส 3 คิดว่ามีโอกาสที่จะเห็นดอกเบี้ยนโยบายลดลงเหลือ 1.50% ในช่วงปลายปีนี้ได้" นายปรากรม กล่าว

พร้อมมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่ระดับประมาณ 2% จะไม่เป็นประเด็นให้ กนง.นำมาใช้พิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปีนี้ เพราะอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยมองว่าตลอดทั้งปีนี้ยังเป็นช่วงของอัตราดอกเบี้ยขาลง และจะเป็นภาวะขาลงเช่นนี้ไปจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 58

ด้าน น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เชื่อว่า การประชุม กนง.วันพุธนี้จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00% เนื่องจากขณะนี้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% ประกอบกับประชาชนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ยังไม่มีความมั่นใจที่จะบริโภค ดังนั้นแม้ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยก็คงไม่ได้ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มปรับลดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปีนี้ลง 4-5% ดังนั้นการจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งผ่านมายังการลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้เกิดผลเท่าที่ควร เพราะถูกจำกัดไว้จากการที่ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จึงคาดว่า กนง.วันพุธนี้ไปจนถึงการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00%

"ขณะนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าดอกเบี้ยไม่ต่ำพอที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัญหาอยู่ที่คนไม่เชื่อมั่นที่จะบริโภคและลงทุนจากปัญหาการเมืองที่ยังไม่จบ...การลดดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดผลได้จริง เพราะถูกจำกัดจากแบงก์ที่ระวังการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นเราคาดว่า กนง.พุธนี้ไปจนถึงที่เหลือของปีจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2%" น.ส.อุสรา กล่าว

บทวิเคราะห์จาก บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดว่า การประชุม กนง.รอบนี้จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยน่าจะยังคงดอกเบี้ยที่ 2% ในการประชุมวันพุธหน้า แม้ภาพเศรษฐกิจจะแย่ลงอย่างเห็นได้ชัดทั้งในปีนี้และปีหน้า แต่การลดดอกเบี้ยนอกจากจะไม่ช่วยแล้วยังถือว่าเปลืองกระสุนอีกด้วย

บล.เอเซียพลัส คาดว่า กนง.พุธนี้จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ต่อไป เพราะหากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในมี.ค. อยู่ที่ระดับ 2.11% (ทำให้อัตราดอกเบี้ยสุทธิเป็นลบ) และเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะทรงกับขึ้น เนื่องจากราคาพลังงานที่มีแนวโน้มขยับขึ้นกับเศรษฐกิจโลก และราคาเนื้อสัตว์(ราคาหมู และไก่) น่าจะเริ่มขยับขึ้นเนื่องจากใกล้ฤดูกาลเปิดเทอม จึงคาดว่าการประชุม กนง.ใน 23 มี.ค.ยังยืนดอกเบี้ยไว้ที่เดิม

ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน คาดว่า การประชุม กนง.รอบนี้จะลดดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าสวนทางกับตลาดที่คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ