"เดือนพฤษภาคม 2557 ถือเป็นเดือนหัวเลี้ยวหัวต่อของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ จะกลับมามีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 เป็นต้นไป" นายสมชัย กล่าว
หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤษภาคม 2557 เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2557 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน มาอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี ตามการจัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน โดยขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อปี ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 60.7 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง
การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤษภาคม 2557 หดตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับยอดขายปูนซิเมนต์ ที่หดตัวร้อยละ -1.8 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวร้อยละ -31.7 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -6.1เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐมีอัตราเร่งขึ้น หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 142.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.3 ต่อปี เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี ส่งผลอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2557 ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณเบิกจ่ายได้ 1,565.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 62.0 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 56.4 ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 (2,525.0 พันล้านบาท)
ด้านอุปสงค์ต่างประเทศ ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนพฤษภาคม 2557 หดตัวที่ร้อยละ -2.1 ต่อปี และร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยตลาดส่งออกหลักที่หดตัว ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น กลุ่มอาเซียน-5 และออสเตรเลีย ขณะที่สินค้าส่งออกที่มีการหดตัวลงมากได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตร รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
สำหรับ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานมีสัญญาณหดตัว ในสาขาอุตสาหกรรมและบริการ สะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2557 หดตัวที่ร้อยละ -4.1 ต่อปี จากอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องประดับ และอาหาร เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ วิทยุโทรทัศน์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียม และเครื่องแต่งกาย เป็นต้น
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 85.1 นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เนื่องมาจากผู้ประกอบการมีระดับความเชื่อมั่นมากขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลาย ขณะที่บริการยังคงส่งสัญญาณหดตัว สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.7 ล้านคน หดตัวร้อยละ -10.7 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่หดตัวมากที่สุด ได้แก่ จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ขณะที่นักท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้แก่ ลาว อังกฤษ และเวียดนาม ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนพฤษภาคม 2557 ยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 6.9 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวโพดและผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรยังหดตัวต่อเนื่อง โดยหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -8.6 ต่อปี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัว -5.8 ต่อปี
ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะเริ่มมีแรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศยังคงแข็งแกร่ง โดยในเดือนพฤษภาคม 2557 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี ขณะที่ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานเท่ากับ 3.62 แสนคน สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 167.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.76 เท่า สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
"สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ จะกลับมามีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 เป็นต้นไป" นายสมชัย กล่าว