(เพิ่มเติม) หอการค้าไทยเสนอจุดยืนแก้ไขปัญหาแรงงาน-จับตาสหรัฐฯ ลงบัญชีใช้แรงงานเด็กเดือนก.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 2, 2014 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการที่สหรัฐฯ ได้จัดอันดับให้อยู่ใน Tier 3 คือ ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามปรับปรุงแก้ไข คณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้มีการประชุมหารือและจัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทย 2.การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว และ 3.การแก้ไขปัญหาแรงงานประมง

โดยการแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทยนั้น เห็นว่า จะต้องมีการวางแผนในระยะยาว 5 – 10 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไหนของประเทศ เนื่องจากปัญหาแรงงานจะมีความรุนแรง และจะไม่สามารถหาแรงงานมาทดแทนได้เพียงพอในอนาคตตามแผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมในอนาคต, ควรมีมาตรการในการเตรียมความพร้อมในการจัดการแรงงานทั้งระบบอย่างถูกต้องและมีจำนวนแรงงานที่เพียงพอสำหรับประเทศไทยในระยะยาวได้, สนับสนุนงบประมาณการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อทดแทนการใช้กำลังแรงงานคน, ควรมีการสนับสนุนสินเชื่อของธนาคารรัฐให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และพัฒนาธุรกิจของตนให้ใช้แรงงานน้อยลง, เตรียมความพร้อมในการวางแผนการพัฒนาคนเพื่อรองรับการขยายตัวในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และศึกษากำลังคนเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงได้, ปรับปรุง และยกระดับระบบการศึกษาไทยในระดับอาชีวศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ, รณรงค์ให้หอการค้าจังหวัด หน่วยงานภาคเอกชน ประชาสัมพันธ์หน่วยงานต่างๆ ให้เห็นความสำคัญของแรงงานต่อการเจริญเติบโตของธุรกิจ พร้อมทั้ง ให้หยุดการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และให้สอดคล้องกับนโยบายการแก้ไขปัญหาแรงงานของ คสช.

ส่วนการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวนั้น แรงงานต่างด้าวมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในทุกมิติของการพัฒนาประเทศไทย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบในระยะยาว ร่วมกับประเทศต้นทางของแรงงาน โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยสนับสนุนการดำเนินงานของ คสช. ในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย, จัดการแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพอย่างถูกต้อง มีความชัดเจน ลดขั้นตอน ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับนายจ้างและลูกจ้าง และสอดคล้องต่อข้อกฎหมาย, เสนอให้ คสช. มีการประสานงานกับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในการบูรณาการแก้ไขปัญหาแรงงานร่วมกัน, เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์คัดกรอง และรับสมัครงานแรงงานต่างด้าวจากประเทศต้นทาง โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน, เสนอให้มีการจัดหาผู้จัดหาแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งประเทศ 2 ฝ่าย และกำหนดขั้นตอน อัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ อย่างชัดเจน และเป็นธรรมทั้งประเทศ 2 ฝ่าย, เสนอให้ผู้จัดหางาน มีการระบุคุณลักษณะงานของแรงงานที่ต้องการอย่างชัดเจน เพื่อลดปัญหาการใช้แรงงานผิดอุตสาหกรรม และเกินความจำเป็นในอุตสาหกรรมนั้น, เสนอให้ BOI พิจารณาผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือต่อไป จนกว่าจะมีนโยบายในการพัฒนาแรงงานต่างด้าวในระยะยาว

ส่วนการแก้ไขปัญหาแรงงานประมง ได้เสนอให้ผู้ประกอบการแปรรูปเบื้องต้น (ล้ง) โรงงานแปรรูปอาหารทะเล ฟาร์ม เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และเรือประมงดำเนินการตามแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices หรือ GLP), เสนอให้มีการจัดระเบียบเรือประมงโดยการจดทะเบียนชาวประมง/ผู้ประกอบการประมง ให้มีใบอาชญาบัตรเรือ ออกใบอนุญาตการใช้เครื่องมือทำการประมงและสำรวจแรงงานประมง โดยให้การจัดระเบียบเรือประมง และการประมงทั้งหมด ให้สอดคล้องกับ แผนแม่บทของกรมประมง กระทรวงเกษตรฯ ในการอนุรักษ์รักษาธรรมชาติ, บังคับให้แรงงานประมงทั้งหมด (คนไทยและคนต่างด้าว)ไปขึ้นทะเบียนแรงงานประมงให้ถูกต้องภายใต้ศูนย์ประสานแรงงานประมง, เสนอให้มีการจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์โดยการบันทึกข้อมูลชาวประมง/ผู้ประกอบการประมง เครื่องมือประมง และแรงงานประมง, สนับสนุนให้มีการตรวจตราเรือประมงที่เข้า – ออก จากฝั่งเพื่อตรวจสอบการทำประมง และป้องปรามการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์, เสนอให้มีการประชาสัมพันธ์ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคการประมง, การดำเนินการส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้นำเข้า/ผู้บริโภคสินค้าประมงของไทย ตลอดจนภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศในการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคการประมงของไทย, สนับสนุนให้กระทรวงแรงงานและกรมประมงให้จัดทำ GLP Platform

นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการประมงในระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาความมั่นคงทางทรัพยากรร่วมกัน และบริหารแรงงานในเรือประมงร่วมกัน, สนับสนุนให้มีการบริหารจัดการประมงโดยแบ่งตามขนาดเรือ เครื่องมือใช้งาน เพื่อให้การจัดการแรงงานมีความเหมาะสมชัดเจน สามารถนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้, สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือการวิเคราะห์ในการบริหารจัดการประมงเพื่อติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง โดยใช้ระบบ VMS ที่สามารถให้ข้อมูลวิเคราะห์ทั้งทางการจัดการทรัพยากรทางทะเล และการจัดการทรัพยากรมนุษย์ตามที่ได้ผูกพันกับอนุสัญญาต่างๆที่ทางราชการได้ลงนามไว้, ขอให้มีการประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างขึ้นทะเบียนแรงงานทั้งเรือประมงที่เข้าฝั่ง และเรือที่กำลังทำการประมงอยู่ในทะเลทั้งในและนอกน่านน้ำไทย และให้แจ้งการเปลี่ยนแปลงลูกเรือกลางทะเลทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง, สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการประมงเชิงบูรณาการ และภาครัฐควรจัดหาแรงงานประมงให้เพียงพอ

ด้านนายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เราจะนำข้อเสนอเหล่านี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ราวต้นเดือน ก.ค. ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมครั้งแรก หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในวันที่ 16 ก.ค.2557 เพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อนที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาแรงงานของไทยทั้งระบบ

นอกจากนี้ สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน ประกอบด้วย ที่ปรึกษาคณะทำงาน 2 คน ประธานคณะทำงาน 1 คน และคณะทำงาน 12 คน ทั้งหมดรวม 15 คน ขึ้นมาเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาแรงงานในทุกมิติและสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงาน อันจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

"ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่หอการค้าและสภาหอการค้าฯ จัดทำมาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยๆกัน และยืนยันว่าที่ผ่านมาทางไทยไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องเหล่านี้ เราทำงานหนักกันมาตลอดตั้งแต่เดือนส.ค.56 จนถึงตอนนี้และกำลังทำอย่างต่อเนื่อง แต่ที่เค้าตัดสินเราคือเอาผลงานก่อนหน้าเดือนส.ค.56 ไปประเมิน....คาดว่าปีหน้าเราจะหลุดจาก Tier 3 กลับขึ้นไป Tier 2 และถ้าเราทำได้ดีอย่างต่อเนื่องมีโอกาสจะขึ้นไปอยู่ Tier 1"นายภูมินทร์ กล่าว

"กรณีที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 3 คือ ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามปรับปรุงแก้ไขนั้น อาจจะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังทั่วโลก นอกจากนั้น การที่สหภาพยุโรปได้ออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย โดยระบุว่า สหภาพยุโรปได้เรียกร้องให้มีการเจรจาหารือ การแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมืองโดยสันติ และการเคารพต่อหลักการประชาธิปไตยในประเทศไทยมาโดยตลอด ความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ คือการกำหนดกรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้งที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ และมีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุดโดยขอให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจและทำงานร่วมกันเพื่อ ผลประโยชน์ของประเทศชาติ และขอเรียกร้อง ให้ทหารเคารพต่อมาตรฐานสิทธิมนษุยชนสากล รวมทั้งสิทธิเสรีภาพของสื่อด้วยก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งอาจรวมถึงสินค้าจากประเทศไทยอีกด้วย" นายภูมินทร์ กล่าว

สิ่งที่น่าจับตาก็คือ ในเดือนกันยายนกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ จะดำเนินการประกาศรายงานประจำปีเกี่ยวกับสถานการณ์และการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด (Findings on the Worst Forms of Child Labor) ของประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ที่ได้รับสิทธิพิเศษ GSP. ไทยอยู่ในระดับ “Significant Advancement" (มี 9 ประเทศ จาก 143 ประเทศที่ถูกจัดทำรายงาน) ซึ่งบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีเหตุผลให้เชื่อว่าผลิตโดยการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ (List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor – TVPRA List) ได้แก่- กุ้ง เสื้อผ้า (แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ) อ้อย สื่อลามก (แรงงานเด็ก) ปลา (แรงงานบังคับ) ซึ่งคงต้องติดตามดูว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรกับประเทศไทยบ้าง

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่อยู่ในกลุ่ม TVPRA List (ปลา ทูน่า กุ้ง อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม) ปี 2013 มีดังนี้ ปลา(เนื้อปลาสด,แช่เย็น, แช่แข็ง ปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง) มีมูลค่า 68.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทูน่า 516 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กุ้ง (กุ้งสด,แช่เย็น,แช่แข็ง,และแปรรูป) 842.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องนุ่งห่ม 1,017.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก(โดยเมื่อปี 2556 ส่งออกประมาณ 7,000 ล้านล้านบาทต่อปี) อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั้งสด แปรรูป และอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง รวมทั้ง ยังเป็นห่วงโซ่การผลิตของหลาย ๆ อุตสาหกรรมไปยังทั่วโลก โดยมีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในทั่วราชอาณาจักร ประมาณ 1,523,869 คน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ