กรมบัญชีกลาง ห่วงเบิกจ่ายงบปี 57 พลาดเป้า ดัน 4 มาตรการเร่งรัด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 4, 2014 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ให้เป็นไปตามเป้าหมายว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ก.ย.56 กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายภาพรวมที่ร้อยละ 95 และรายจ่ายลงทุนที่ร้อยละ 82 ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้กำหนดให้การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกหน่วยงานต้องถือปฏิบัติ และคงเป้าหมายการเบิกจ่ายไว้ตามที่ ครม.กำหนดนั้น

จากการติดตามผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ พ.ศ. 2557 พบว่าตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายภาพรวมได้จำนวน 1,720,032.86 ล้านบาท หรือร้อยละ 68.12 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 1.88(เป้าหมายร้อยละ 70) เบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนได้จำนวน 209,169.27 ล้านบาท หรือร้อยละ 48.82 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 21.18 (เป้าหมายร้อยละ 70) และเบิกจ่ายรายจ่ายประจำได้จำนวน 1,510,863.59 ล้านบาท หรือร้อยละ 72.06

สำหรับการจัดสรรงวดรายจ่ายลงทุนได้จัดสรรแล้วจำนวน 380,616.00 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณหลังโอนเปลี่ยนแปลง จำนวน 428,462.07 ล้านบาท ในส่วนของเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี พ.ศ.2548-2556 เบิกจ่ายแล้วจำนวน 178,748.76 ล้านบาท หรือร้อยละ 59.36 ของวงเงินที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 301,140.55 ล้านบาท

นายมนัส กล่าวต่อว่า จากผลการเบิกจ่ายเงิน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 57 เบิกจ่ายภาพรวมได้เพียงร้อยละ 68.12 และเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนได้เพียงร้อยละ 48.82 เท่านั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าผลการเบิกจ่ายเงินในปีนี้จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยคาดว่าจะเบิกจ่ายภาพรวมได้ร้อยละ 90.8 และเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนได้ร้อยละ 65 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างแน่นอน ที่เดิมเคยคาดไว้ว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจสูงถึง 2.399 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ จะส่งผลกระทบต่อคะแนนการประเมินตามคำรับรองการปฏิบัติราชการที่ทุกหน่วยงานได้ลงนามไว้กับสำนักงาน กพร.ที่อาจจะได้คะแนนต่ำ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับจำนวนเงินรางวัลที่แต่ละส่วนราชการจะได้รับด้วย

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ผลการเบิกจ่ายเงินเป็นไปตามเป้าหมาย กรมบัญชีกลางจึงพยายามแก้ไขโดยได้กำหนดมาตรการสนับสนุนการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ลดระยะเวลาในการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ยังคงอยู่ภายใต้หลักการการดำเนินการตามระเบียบด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จำนวน 4 มาตรการ คือ

1.การยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบฯ e-Auction กรณีที่มีผู้มีสิทธิเสนอราคารายเดียว ให้หัวหน้าหน่วยงานสามารถดำเนินการต่อรองราคากับผู้เสนอราคารายนั้น และดำเนินการต่อไปได้ โดยได้ออกหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวพอ) 0421.3/พ 0029 ลงวันที่ 27 มกราคม 2557

2.ซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติตามระเบียบฯ กรณีที่สามารถจัดหาด้วยวิธีการอื่นได้โดยไม่ต้องจัดหาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเดิมจัดหาโดยวิธี e-Auction แล้วไม่ได้ผล ซึ่งตามระเบียบฯ e-Auction ต้องจัดหาใหม่โดยวิธี e-Auction หรือทำเรื่องขอยกเว้นมาที่ กวพ.อ. ทำให้เป็นภาระกับส่วนราชการต้องดำเนินการ จึงให้ส่วนราชการสามารถใช้ดุลพินิจได้ว่าหากการจัดหาเข้าหลักเกณฑ์สามารถใช้วิธีอื่น หรือวิธีพิเศษได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจาก กวพ.อ.

3.ผ่อนคลายการดำเนินการตามระเบียบฯ e-Auction ซึ่งในระหว่างการอุทธรณ์ให้หน่วยงานดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้เลย ไม่ต้องระงับการดำเนินการไว้ก่อน ซึ่งทำให้สามารถก่อหนี้ได้เร็วขึ้นภายใน 42 วัน จากเดิม 85 วัน

4. กวพ.และ กวพ.อ.มีนโยบายในการพิจาณาผ่อนคลายระเบียบพัสดุฯ 2535 และระเบียบฯ e-Auction เพื่อให้ทันกับการก่อหนี้และเบิกจ่ายภายในปีงบประมาณ 2557 ซึ่งผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 - 30 มิถุนายน 2557 กวพ.และ กวพ.อ. ได้พิจารณาเรื่องเสร็จแล้ว จำนวน 418 เรื่อง เป็นเงินทั้งสิ้น 49,531.39 ล้านบาท

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า นอกจากมาตรการข้างต้นแล้ว ยังมีมาตรการสุดท้ายที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกรมบัญชีกลางจะนำเสนอ รมว.คลังเพื่อขอความเห็นชอบมาตรการการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีกรณีไม่มีหนี้ หากหน่วยงานยังไม่เริ่มดำเนินการก่อหนี้ผูกพันภายใน 30 กันยายน 2557 จะไม่อนุมัติให้กันเงิน เว้นแต่มีเหตุอันจำเป็นอย่างยิ่งยวด

"หวังว่ามาตรการต่างๆ ที่กรมบัญชีกลางดำเนินการจะช่วยให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัว และเกิดปัญหาน้อยที่สุด แม้ว่าบางมาตรการจะมีความเข้มงวดมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินในช่วงสิ้นปีงบประมาณเข้าใกล้เป้าหมายที่กำหนดให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการผลักดันนโยบายและเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ" นายมนัสกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ