ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกมันสำปะหลังปีนี้ยังโตดีทั้งปริมาณและมูลค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 4, 2014 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 แนวโน้มการส่งออกมันสำปะหลังของไทยยังคงให้ภาพการเติบโตที่ดี ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า เนื่องจากความต้องการในตลาดต่างประเทศที่มีรองรับอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะตลาดจีน ส่งผลต่อแนวโน้มราคาส่งออกที่คาดว่าอาจทรงตัวอยู่ในระดับสูง

การส่งออกมันสำปะหลังของไทยมี 2 รูปแบบ คือ แป้งมันสำปะหลัง และมันเส้นมันอัดเม็ด โดยคาดว่า ปี 2557 ไทยอาจมีมูลค่าการส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบอยู่ที่ 40,300 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 16.5 โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี ไทยมีมูลค่าการส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบอยู่ที่ 15,295 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 20.0 (YoY) ประเทศคู่ค้าหลักคือ จีน ไต้หวัน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เป็นต้น

ส่วนมันเส้นมันอัดเม็ด ในปี 2556 ไทยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 39,959 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 18.1 (YoY) ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 ไทยมีมูลค่าการส่งออกมันเส้นมันอัดเม็ดอยู่ที่ 22,261 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 34.9 (YoY) แนวโน้มในปีนี้คาดว่าไทยอาจมีมูลค่าการส่งออกมันเส้นมันอัดเม็ดอยู่ที่ 53,200 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 33.1 (YoY) โดยเฉพาะในจีน เพื่อนำไปผลิตแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคและทำเอทานอล

จากปัจจัยสนับสนุนคือ ด้านอุปสงค์ จีนยังคงมีความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง โดยจีนนำเข้ามันสำปะหลังจากไทยเป็นหลัก (จีนมีการผลิตมันสำปะหลัง แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ) แม้ว่าในปัจจุบันพัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีนจะยังคงให้ภาพการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจนนัก แต่ความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังจากไทย เพื่อนำไปผลิตเอทานอลยังมีรองรับอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นตลาดใหญ่ของมันสำปะหลังไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี

จีนกำหนดให้มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนประจำปี 2554-2559 ซึ่งในการผลิตเอทานอลใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบสำคัญ นอกจากนี้ จีนมีนโยบายให้โรงงานแอลกอฮอล์หยุดการใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบในการผลิต (เพื่อรักษาระดับสต๊อกข้าวโพด ซึ่งเป็นความมั่นคงด้านอาหาร) อาจส่งผลต่อแนวโน้มการใช้มันสำปะหลังมากขึ้น

ขณะที่ปัจจัยด้านอุปทาน ผลผลิตจากประเทศคู่แข่งอาจลดลง อาทิ อินโดนีเซีย ที่คาดว่าอาจได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง อีกทั้งช่วงต้นปี 2557 จีนเกิดพายุหิมะในมณฑลกว่างซี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญ และ“ปรากฏการณ์เอลนินโญ่" ที่คาดว่า อาจเกิดในราวกลางปี 2557 และครอบคลุมหลายพื้นที่ในโลก ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างข้าวโพดให้ปรับสูงขึ้น และอาจมีผลทางอ้อมต่อความต้องการมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น จึงนับเป็นโอกาสที่ดีในการส่งออกมันสำปะหลังของไทย

ส่วนแนวโน้มความต้องการภายในประเทศที่ยังคงมีรองรับ อาจส่งผลต่อแนวโน้มราคาในประเทศที่อาจทรงตัวอยู่ในระดับสูง จากปัจจัยสนับสนุน ดังนี้ ด้านอุปสงค์ ผลต่อเนื่องของนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน (ยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน 91 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556) การเพิ่มสัดส่วนการใช้เอทานอลจากมันสำปะหลังมากขึ้น ในเดือนเมษายน 2557 ด้วยการขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันซื้อเอทานอลที่ผลิตจากกากน้ำตาลต่อมันสำปะหลังเพิ่มเป็น 62:38 จากเดิมที่ 77.5:22.5 ก็อาจช่วยเพิ่มความต้องการมันสำปะหลังในประเทศ ด้านอุปทาน ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังของไทยในไตรมาส 3 ปี 2557 คาดว่าอาจมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย (ช่วงนอกฤดู) ซึ่งอาจส่งผลต่อราคามันสำปะหลังให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ด้านคู่แข่ง “เวียดนาม" นับเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกมันสำปะหลังไปยังตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของทั้งไทยและเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามและจีนมีอาณาเขตที่ติดกัน ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ทำให้ราคามันสำปะหลังเมื่อรวมกับค่าขนส่งของเวียดนามถูกกว่าไทย นอกจากนี้ การที่เวียดนามให้ความสำคัญกับมันสำปะหลังเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ และเน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นด้วยเทคนิคการปลูกที่ดี อันแสดงถึงการเพิ่มบทบาทมันสำปะหลังของเวียดนามในฐานะสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศที่น่าจับตามองในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังคงผลิตมันสำปะหลังได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้ในประเทศ ประกอบกับคุณภาพมันสำปะหลังของไทยที่ดีกว่าโดยเปรียบเทียบ มีเชื้อแป้งสูง เป็นที่ยอมรับของตลาดเหมาะแก่การนำไปแปรรูปได้ในหลากหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อีกทั้งปริมาณการส่งออกมันสำปะหลังของเวียดนามไปยังจีน ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับไทย จึงทำให้ไทยยังคงรักษาบทบาทความเป็นผู้นำส่วนแบ่งตลาดมันสำปะหลังในจีนได้ แต่ในระยะถัดไป หากเวียดนามสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลต่อระดับการแข่งขันของไทยในตลาดจีนได้

ทั้งนี้ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของไทยที่ลดลง เนื่องจากยังขาดการจัดการเรื่องดินและน้ำที่ไม่สมดุล ตลอดจนการปลูกในพื้นที่ต่อเนื่องโดยขาดการบำรุงดินที่ดี ทำให้ดินเสื่อมโทรม ดังนั้น ไทยจึงควรเร่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ด้วยการวิจัยและพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังที่ให้ผลผลิตสูงและเลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับดินแต่ละพื้นที่ ภายใต้สภาวะการปลูกที่เหมาะสม เช่น การให้น้ำและปุ๋ยอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้เปอร์เซนต์แป้งที่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มคุณภาพและความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา ตลอดจนการรักษาจุดเด่นของไทยด้านความเป็นมืออาชีพของผู้ส่งออก ความตรงต่อเวลาในการส่งมอบวัตถุดิบ รวมทั้งการแปรรูปขั้นสูงของไทย อาทิ แป้งฟลาวเพื่อทดแทนแป้งสาลีในอุตสาหกรรมเบเกอรี่และอาหารสำหรับผู้บริโภคที่แพ้สารกลูเต็นในแป้งสาลี การพัฒนาแป้งดัดแปรจากมันสำปะหลังเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลังเป็นกระบวนการที่มากกว่าแค่เพียงการผลิต จึงจำเป็นต้องมาพร้อมกับความเข้าใจตลาด การศึกษาและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงอาจต้องมีกิจกรรมทางการตลาด เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยีการผลิต จึงจะช่วยสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น ก็จะยิ่งสนับสนุนการส่งออกของไทยได้เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ