กกร.ชง 5 มาตรการแก้ไขอุปสรรคการค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยวเสนอกรอ. 16 ก.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 14, 2014 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.เตรียมข้อเสนอ 5 ด้าน รวม 14 ประเด็นที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.) ที่ประชุมกันครั้งแรกในวันที่ 16 ก.ค.นี้

ประเด็นที่จะนำเสนอ ประกอบด้วย เรื่องสำคัญเร่งด่วนที่มีความจำเป็นต้องเร่งรัดพิจารณาดำเนินการใน 5 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 5 ประเด็น เช่น เร่งรัดส่งเสริมและผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เกิดผลเป็นรูปธรรม, การจัดตั้งคณะกรรมการวางโรดแมปและขับเคลื่อนสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงานทดแทนจากสินค้าเกษตร เป็นต้น 2.ด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม 2 ประเด็น เช่น โครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถ SMEs ไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนระยะที่ 2(2557-2559)

3.ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว 2 ประเด็น เช่น การเร่งรัดฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในมาตรการเร่งด่วนภายใน 1-3 เดือนก่อนจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น 4.ด้านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 3 ประเด็น เช่น ขอให้ Infrastructure Fund เป็นทางเลือกหนึ่งในการระดมทุน และ 5.ด้านการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจอีก 2 ประเด็น เช่น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจการค้าและการลงทุนของประเทศ

"ข้อเสนอสำคัญและเป็นเรื่องเร่งด่วน เช่น การขยายเวลามาตรการสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อผ่อนปรน หรือ Soft Loan ที่จะสิ้นสุดในเดือนธ.ค.57 นั้น ภาคเอกชนต้องการให้ขยายมาตรการดังกล่าวออกไปอีก 3 ปี ตั้งแต่ม.ค.58-ธ.ค.60 เพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ และง่ายต่อการตัดสินใจของนักลงทุน และอีกประเด็นสำคัญ คือ การปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่อให้เกิดความสะดวกในกระบวนการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และควรแยกแยะนักธุรกิจ กับแรงงานต่างด้าว รวมทั้งขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าแก่ชาวจีนและไต้หวันที่จะมาประกอบธุรกิจในประเทศไทย" นายบุญทักษ์ ระบุ

สำหรับความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs นั้น กกร.จะเสนอให้มีการขยายระดับการค้ำประกันความสูญเสียของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) โดยขอให้จัดสรรงบประมาณที่จำเป็นให้แก่ บสย.เพื่อสนับสนุนค่าธรรมเนียมที่ บสย.จะคิดจากผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มระดับการค้ำประกันจากเดิมค้ำประกันความสูญเสียจากระดับสูงสุดที่ร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 50 ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกในการเร่งรัดความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ หากเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ SMEs และมีการปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มเติมเต็มวงเงินค้ำประกันของ บสย. คือประมาณ 165,000 ล้านบาท จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอีก 0.5% ในช่วงครึ่งปีหลัง และอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจในปีนี้สูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ และจะส่งผลดีต่อเนื่องในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 58 ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ