รมว.พาณิชย์ เผยยุทธศาสตร์ 4 พืชเศรษฐกิจเสร็จทุกมิติแล้ว เน้นจัดสัดส่วนพท.เพาะปลูก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 7, 2014 14:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมันว่า ที่ประชุมฯ ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ของพืชเศรษฐกิจทั้ง 4 ชนิด โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ 1.ระยะเร่งด่วน 2.ระยะสั้น 1-3 ปี 3.ระยะกลาง 3-5 ปี และ 4.ระยะยาว 12 ปี

ในภาพรวมของแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนระหว่างอุปสงค์และอุปทานของพืชแต่ละชนิด การกำหนดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม การวิจัยเรื่องการเพิ่มมูลค่าและความต้องการของตลาด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนการเชื่อมโยงกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ว่าพืชชนิดใดที่ไทยมีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

"เดิมพืชเศรษฐกิจไม่เคยมีแผนยุทธศาสตร์เลย วันนี้มีการทำยุทธศาสตร์พืชเศรษฐกิจค่อนข้างจะสมบูรณ์ในทุกมิติ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะนำเสนอยุทธศาสตร์นี้ต่อ กรอ. และจากนั้นจะนำเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป...วันนี้ยังไม่ได้พูดกันถึงเรื่องงบประมาณที่จะใช้ คณะทำงานแต่ละชุดจะนำแผนยุทธศาสตร์กลับไปจัดทำ Action Plan อีกที หลังจากนี้จึงจะเห็นภาพชัดเจนว่าจะใช้เงินเท่าใด" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ในส่วนของอ้อยจะมีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนระหว่างการผลิตเป็นน้ำตาลทรายกับการผลิตเป็นเอทานอล รวมถึงการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกที่ชัดเจน การปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูก 10 ล้านไร่ ผลผลิตปีละ 100 ล้านตัน และผลิตน้ำตาลทรายได้ 10 ล้านตัน แต่ตามแผนยุทธศาสตร์ในปี 2569 มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเป็น 16 ล้านไร่ ผลผลิตเพิ่มเป็นปีละ 180 ล้านตัน และผลิตน้ำตาลทรายได้ 20 ล้านตัน ขณะเดียวกันจะสามารถเพิ่มการผลิตเอทานอลได้มากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจากปีละ 2 แสนล้านบาทเป็น 4.5 แสนล้านบาท

ขณะที่ปาล์มน้ำมันตั้งเป้าให้ไทยเป็นผู้ผลิตหลักในอาเซียน และพัฒนาวัสดุที่เหลือใช้จากปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูก 4.5 ล้านไร่ และเพิ่มเป็น 7.5 ล้านไร่ในปี 2569 โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.5 แสนไร่ ซึ่งจากแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเพิ่มคุณภาพผลผลิตจากเดิมที่มีปริมาณน้ำมันอยู่ที่ 18% เป็น 20% และปริมาณการผลิตต่อไร่จาก 3.2 ตัน เพิ่มเป็น 3.5 ตัน

สำหรับมันสำปะหลังจะมีการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกและเพิ่มมูลค่าการผลิตที่มีความหลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูก 8 ล้านไร่ และจะเพิ่มเป็น 8.5 ล้านไร่

ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นจะมุ่งเน้นที่การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต และส่งเสริมเกษตรกรให้มีการร่วมตัวเป็นสหกรณ์การเกษตร กำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมจากเดิม 7 ล้านไร่เป็น 7.4 ล้านไร่ โดยจะเพิ่มคุณภาพผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ