(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย.57 อยู่ที่ 79.4

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 4, 2014 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย.57 อยู่ที่ 79.4 ลดลงจาก 80.1 ในเดือน ต.ค.57 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 68.8 ลดลงจาก 69.6 ในเดือนก่อนหน้า

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 73.1 ลดลงจาก 73.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 96.3 ลดลงจาก 97.0

สำหรับปัจจัยบวกมาจากการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.0% ต่อปี และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ GDP ปี 58 ขยายตัว 3.5-4.0%

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 1.0% จากเดิม 1.5-2.0%, ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ, ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง, ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูง และความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดการณ์ว่าการบริโภคของภาคประชาชนอาจยังไม่ฟื้นมากนักในระยะนี้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังมีการปรับตัวลดลงในทุกรายการ จากความกังวลสถานการณ์ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งระดับราคาผลผลิตทางการเกษตรในอนาคตที่กำลังจะออกสู่ตลาดที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ค่าครองชีพเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการในการควบคุมราคาสินค้า

แต่ประชาชนยังคงเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเงินช่วยเหลือในการลดต้นทุนทางการเกษตรให้แก่ชาวนา 4 หมื่นล้านบาทนั้น ถ้าเม็ดเงินลงสู่ภาคประชาชนได้แล้วจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น และการบริโภคจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ แต่ทั้งนี้คงต้องติดตามสถานการณ์ในเดือนถัดไปอีกครั้ง

"ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีสัญญาณการทรุดตัว แม้ค่าครองชีพ ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าจะไม่ได้สูงขึ้นมาก แต่กลุ่มตัวอย่างที่เราทำการสำรวจ เขากลับมองว่าข้าวของแพง มีเม็ดเงินอยู่ในกระเป๋าน้อย รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ตกลงไปหลายรายการ โดยเฉพาะข้าว และยางพารา ที่ตกต่ำลงไปมากในรอบ 40 ปี เราไม่เคยประสบปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำขนาดนี้ ซึ่งทำให้เม็ดเงินไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้น้อย"นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า จากการที่รัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบเงินช่วยเหลือชาวนา จึงส่งผลให้เม็ดเงินลงไปถึงมือเกษตรกรและนำมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ช้า จุดนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตของผู้บริโภคลดลง ภาพในขณะนี้คือเศรษฐกิจซึมตัวค่อนข้างมาก เพราะความหวังว่าจะเห็นเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจนั้นยังไม่ชัดเจน กว่าเม็ดเงินจะลงไปได้ถึงมือเกษตรกรครบถ้วนอาจจะอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 58

"เดือนธ.ค. คงยังไม่เห็นกระแสเงินไหลเข้าระบบเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นในเดือนธ.ค. และช่วงปีใหม่อาจจะไม่ค่อยคึกคัก" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ย.ทุกตัวจะปรับลดลง แต่ในส่วนของดัชนีการเมืองนั้นพบว่า ประชาชนมองว่าการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และจากดัชนีคาดการณ์การเมืองในอนาคตยังสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจมา 103 เดือน ดังนั้น จุดนี้น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ประชาชนมั่นใจในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุน เพราะสิ่งสำคัญคือถ้าประชาชนมองว่าการเมืองมีเสถียรภาพและนิ่งได้ ประกอบกับรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบได้เพียงพอ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยพร้อมที่จะฟื้นตัวขึ้นได้

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ เห็นว่า ในปีนี้ภาคการท่องเที่ยวจะยังไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทดแทนภาคการส่งออกได้มากนัก เนื่องจากการท่องเที่ยวเพิ่งเริ่มฟื้นตัวเฉพาะในแถบทะเลอันดามันเท่านั้น คาดว่าการท่องเที่ยวน่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจนราวไตรมาส 1/58 ตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการคือเร่งรัดการใช้จ่ายและการลงทุนเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ไม่ถึง 1% โดยอาจจะอยู่ที่ 0.8% เท่านั้น สำหรับปี 58 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4% แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเศรษฐกิจโลกต้องฟื้นตัว หากไม่เป็นเช่นนี้เศรษฐกิจไทยอาจจะเหลือเติบโตได้เพียง 3% แต่หากได้ปัจจัยทั้งเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และรัฐบาลสามารถอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะโตได้ 4-5% ขณะที่คาดว่าการส่งออกในปีหน้าจะเติบโตได้ 4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ