(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า คาดส่งออกปี 58 โต 3.1% ศก.โลกดีขึ้นแต่ยังเผชิญปัจจัยลบเพียบ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 13, 2015 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินทิศทางการส่งออกของไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ 3.1% จากเศรษฐกิจโลกดีขึ้น แต่ยังเผชิญปัจจัยลบอีกมาก

สำหรับการส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้ 1.39% ที่มูลค่า 56,994 ล้านดอลล์ แต่หดตัวลง 0.42% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากลดลงตามปัจจัยฤดูกาลหลังจากมีการส่งออกไปมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ในปลายปี และมีการเร่งส่งออกไปตลาดยุโรป แคนาดา และตุรกีเนื่องจากไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) ในปี 58

"ภาพรวมการส่งออกในปี 58 เชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 57 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ทั้งนี้ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก จึงส่งผลให้การส่งออกในปี 58 ยังไม่สดใสเท่าที่ควร"

สำหรับปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนทิศทางการเติบโต ได้แก่ ตลาดสหรัฐฯ ตลาดรอง และตลาดใหม่มีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนปัจจัยลบ ประกอบด้วย ตลาดยุโรป หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี, ตลาดญี่ปุ่น หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และตลาดจีนยังไม่สามารถเป็นความหวังได้ เนื่องจากยังติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

นายอัทธ์ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกไปอเมริกาจะขยายตัวเพิ่มจาก 3.7% ในปี 57 มาเป็น 4.2% ในปี 58 เนื่องจากเศรษฐกิจของอเมริกาขยายตัวดีขึ้น การจ้างงานที่ดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าคาด

ขณะที่การส่งออกไปยุโรป หดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังจากหดตัวอย่างหนักในปี 55 โดยคาดว่าการส่งออกไปยุโรปจะหดตัว 0.3% แม้ในภาพรวมเศรษฐกิจของยุโรปจะขยายตัว 1.3% เนื่องจากไทยถูกตัด GSP, วิกฤติค่าเงินรูเบิล, เงินบาทเทียบเงินยูโรแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน

ส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่นในปี 58 คาดหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยหดตัว 0.5% จากปี 57 ที่หดตัว 1.7% เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาส 2/57 จากการปรับเพิ่มภาษี โดยคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัว 0.8% ส่งผลให้นำเข้าจากไทยลดลง

สำหรับการส่งออกไปอาเซียน(เดิม) จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.7% จากที่หดตัว 2.9% ในปี 57 เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่ระดับ 5.5% ขณะที่เศรษฐกิจของมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ยังขยายตัวได้ดีใกล้เคียงปี 57 ส่วนการส่งออกไปตลาดอาเซียนใหม่(CLMV) ขยายตัว 4.5% จากที่หดตัว 1.3% ในปี 57 เนื่องจากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระดับสูง

ส่วนการส่งออกไปอินเดีย คาดว่าจะขยายตัว 7.8% จากที่ขยายตัวได้ 7.4% ในปี 57 และการส่งออกไปจีน คาดว่าจะหดตัว 0.3% จากที่หดตัวถึง 8% ในปี 57 จากนโยบปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยการลดการพึ่งพาการนำเข้า การชะลอการลงทุน และการชะลอการปล่อยสินเชื่อ

นายอัทธ์ กล่าวว่า ในปี 58 นี้ คาดว่าไทยจะครองส่วนแบ่งตลาดโลกลดลงเหลือ 1.21% จากเดิม 1.23% ในปี 57 เนื่องจากเสียส่วนแบ่งตลาดให้ประเทศในกลุ่ม CLMV ที่มีสินค้ากลุ่มเดียวกัน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประมง, น้ำตาล, เครื่องดื่ม, เครื่องนุ่งห่ม, กระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอแนะ เพื่อการปรับตัวและเตรียมรับมือกับการตัดสิทธิ GSP ดังนี้ คือ 1.ควรใช้ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งส่วนใหญ่ยังได้รับสิทธิ GDP เป็นฐานในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังตลาด EU โดยเข้าไปลงทุนด้วยตนเองหรือหาพันธมิตรร่วมลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน 2.หาแนวทางกลยุทธ์ปรับตัวรองรับ เช่น หานวัตกรรมใหม่ และพยายามลดต้นทุน เพื่อการเพิ่มมูลค่าและคุณภาพให้แก่สินค้า 3.เร่งหาตลาดทางเลือกที่มีศักยภาพทดแทนตลาด EU ทั้งตลาดส่งออกหลักที่ขยายตัวดี และตลาดส่งออกอื่นที่มีศักยภาพ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 4.เร่งหาโอกาสการเจรจากับ EU ในเวทีต่างๆ เพื่อผลักดัน FTA หรือเจรจาให้ EU กำหนดมาตรการผ่อนปรนหรือช่วยเหลือ เช่น การคงสิทธิ GSP ในบางสินค้า

นายอัทธ์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคว่า ขณะนี้เงินบาทของไทยอ่อนค่าลงไป 2.5% ขณะที่ค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคอ่อนค่าลงไป 5-9% ซึ่งจะถือว่าเงินบาทของไทยยังแข็งค่ากว่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค และอาจทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยาก ดังนั้นหากจะให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้กับประเทศคู่แข่ง จะต้องทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ซึ่งเงินบาทอาจจะต้องไปอยู่ที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์ จึงจะสามารถแข่งขันได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ