(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ม.ค. อยู่ที่ 80.4

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 5, 2015 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ม.ค.58 อยู่ที่ 80.4 จาก 81.1 ในเดือน ธ.ค.57 โดยเป็นการปรับตัวลดลงเนื่องจากสินค้าเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำและความกังวลกับการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 69.7 จาก 70.5 ในเดือนธ.ค.57 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 74.1 จาก 74.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 97.4 จาก 98.3

สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2%, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาด GDP ปี 58 ที่ 4% ถือว่าโตต่ำกว่าศักยภาพ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาด GDP ปี 57 โตได้แค่ 0.7% จากเดิมที่คาด 1.4%, ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ, ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และเงินบาทปรับแข็งค่าเล็กน้อย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนม.ค.58 ปรับตัวลดลงทุกรายการ ในขณะที่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี การจับจ่ายใช้สอยกลับมาคึกคัก ซึ่งเป็นเพราะประชาชนยังมองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำเริ่มส่งผลบั่นทอนสถานการณ์ เช่น ยางพารา และข้าว ในขณะที่ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาคึกคักเท่าที่ควร ประกอบกับทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังต่างปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในปีนี้ลงจากเดิม ซึ่งทำให้เป็นข้อมูลข่าวสารในเชิงลบที่เข้ามา

นอกจากนี้ แม้สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจะมีส่วนช่วยในการพยุงเศรษฐกิจได้บ้าง จากการที่ทำให้ต้นทุนประกอบการปรับลดลง แต่ขณะเดียวกันมีแนวโน้มที่ราคาก๊าซ NGV และก๊าซ LPG จะปรับขึ้นราคาได้อีก รวมทั้งความเห็นที่ยังแตกต่างกันเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ระหว่างรัฐบาลกับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งอาจทำให้เห็นว่าการเมืองอาจจะเริ่มไม่นิ่ง ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการเมืองในเดือนม.ค.นี้ จึงเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 9 เดือน

“ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่แปลก เพราะเมื่อตอนปีใหม่ดัชนีความเชื่อมั่นยังคึกคัก การใช้สอยกลับมา แต่พอมาเดือนนี้(ม.ค.)คนยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ฟื้น หรือฟื้นช้า คำสั่งซื้อจากต่างจังหวัดหายไป เพราะราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำได้เริ่มบั่นทอนสถานการณ์...เศรษฐกิจยังมีสัญญาณฟื้นตัวช้า และไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจริงหรือไม่" นายธนวรรธน์ กล่าว

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนยังไม่ฟื้นตัวมากนักในระยะนี้ แม้ว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งระดับราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวและยางพาราที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินของทุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญในช่วงที่การส่งออกและการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า จากการประชุมครม.เศรษฐกิจเมื่อวานนี้ ที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ลงไปดูแลในเรื่องราคาสินค้า การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน การผลักดันเรื่องการส่งออกให้เป็นวาระแห่งชาติ และเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลเริ่มรับรู้แล้วว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่ฟื้นตัวไปตามแผนที่คาดไว้ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในช่วงฤดูแล้ง ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังบั่นทอนการบริโภค และอาจทำให้การบริโภคของประชาชนไม่สามารถฟื้นตัวได้ในไตรมาส 1/58 ตามที่เคยคาดไว้

“การท่องเที่ยวน่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดี ในช่วง ก.พ.-มี.ค.นี้ และน่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ ประกอบกับเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากโครงการลงทุนของภาครัฐที่คาดว่าจะลงสู่ระบบประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาทภายในปีนี้ น่าจะเข้ามาช่วยได้ รัฐบาลต้องทำงานหนักขึ้น เพราะประชาชนเริ่มรู้สึกว่าเศรษฐกิจช็อต" นายธนวรรธน์ ระบุ

อย่างไรก็ดี ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังคาดว่าปีนี้ GDP จะเติบโตได้ 3.5-4% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะเติบโตได้ 1-2% ส่วนกรณีอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบในเดือนม.ค.58 นั้น เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่ลดลง จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง แต่ไม่ได้เกิดจากการบริโภคที่ลดลง และยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพียงแต่เป็นความกังวลจากผู้บริโภคเท่านั้น

สำหรับเหตุการณ์ระเบิดที่หน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนถือว่ามีผลกระทบน้อย และไม่มีผลบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวจะเป็นในระยะสั้นเพียงแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น และสถานการณ์จะกลับมาปกติ หากไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำอีก เพียงแต่อาจจะทำให้ประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจเกิดความระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายและการลงทุน เพราะเห็นว่าทิศทางการเมืองยังไม่นิ่ง แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้เศรษฐกิจตึงตัว

"ถ้าหากการเมืองยังนิ่งและไม่มีม็อบก็ยังเชื่อว่า GDP ในปีนี้จะยังอยู่ที่ 3.5-4%"นายธนวรรธน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ