(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เล็งลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 3-3.5%,หนุน กนง.ลดดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 5, 2015 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เตรียมทบทวนตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ช่วงเดือน เม.ย.58 เบื้องต้นคาดว่าจะปรับลดเหลือเติบโตราว 3-3.5% จากเดิมคาดไว้ 3.5-4% ขณะที่ตัวเลขการส่งออกคาดว่าจะลดลงเหลือขยายตัว 1-2% จากเดิม 3-4% และเงินเฟ้อลดลงเหลือ 0.5-1.3% จากเดิม 1-1.8% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างโดดเด่น และการบริโภคยังไม่ได้เป็นแรงขับในการเคลื่อนเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร อีกทั้งเม็ดเงินจากการลงทุนของภาครัฐลงไปสู่ระบบได้อย่างล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ ม.หอการค้า สนับสนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ที่จะมีการประชุมวันที่ 11 มี.ค.นี้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

นายธนวรรธน์ คาดว่าปลายไตรมาส 2/58 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะเริ่มฟื้นตัว ภายใต้ปัจจัยที่รัฐบาลสามารถอัดฉีดเม็ดเงินในโครงการลงทุนต่าง ๆ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. และหวังว่า ธปท.จะลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง หลังจากที่ธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทั้งหมดนี้หากสามารถดำเนินการได้จะเป็นตัวช่วยกระตุกเศรษฐกิจไทยให้ปรับตัวขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 2 นี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ถ้าเศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้น การบริโภคจะยิ่งซึมตัวลง ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ คือ 1.การท่องเที่ยว 2.การลงทุนของภาครัฐที่ต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่ออัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และ 3.หากการส่งออกเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากค่าเงินบาทที่อยู่ในกรอบ 32.50-33.00 บาท/ดอลลาร์ ก็น่าจะมีอานิสงส์ต่อภาคการส่งออกให้เริ่มฟื้นในปลายไตรมาส 2 ซึ่งจะช่วยให้การบริโภคจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นตามสถานการณ์ดังกล่าว

นายธนวรรธ์ กล่าวว่า การเตรียมปรับลด GDP ในปี 58 ลงนั้นประเมินจากเหตุผลที่เดิมมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ควรจะโตได้ 3-3.5% แต่ล่าสุดมีโอกาสมากที่เศรษฐกิจจะเติบโตลดลงมาเหลือ 2.5% ขณะที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 เดิมคาดว่าจะเติบโตได้ 3-4% แต่หากการเร่งเบิกจ่ายทำได้ไม่ดีและการส่งออกยังไม่กระเตื้อง ก็มีโอกาสที่ไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 3-3.5%

“นี่คือเหตุผลที่ทำให้เรามองว่าภาพของเศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวต่ำลง เหตุผลสำคัญคือเรารอการขับเคลื่อนเม็ดเงินของภาครัฐ ซึ่งเดิมเราคาดว่ารัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้มากขึ้นในช่วงปลายปีที่แล้ว แต่ปรากฎว่าในเดือนมี.ค.นี้ การอัดฉีดเม็ดเงินยังล่าช้ามาก นอกจากนี้การส่งออกในไตรมาสแรกที่น่าจะโตได้ 2-3% อาจจะกลายเป็นติดลบ 2% ซึ่งทำให้รายได้จากส่วนนี้หดหายไปอีก 3-5 หมื่นล้านบาท ประกอบกับการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากระดับ 33 บาทปลายๆ มาอยู่ที่ 32.50 บาท รวมทั้งในเรื่องของการบริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว" นายธนวรรธน์ ระบุ

ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า สำหรับมาตรการในการลดภาษีต่างๆ คงไม่สามารถจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงนี้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลต้องไม่ทำให้มาตรการภาษีที่จะออกมากลายเป็นปัจจัยลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเกินไป เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งรัฐบาลต้องให้มุมมองที่ชัดเจนว่าการบังคับใช้ยังไม่ใช่ในช่วงเร็วๆนี้ แต่อาจจะมีผลในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และเพดานภาษีควรปรับลดลง เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนมากเกินไป ซึ่งข้อมูลที่จะเป็นผลต่อจิตวิทยาในเชิงบวกนี้รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้เกิดแก่ประชาชนมากที่สุด

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลพอจะทำได้คือชะลอการปรับขึ้นราคาพลังงานไว้ เช่น ก๊าซ NGV และก๊าซ LPG จนกว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นขึ้น หรือเริ่มมีเม็ดเงินจากการเบิกจ่ายในโครงการของรัฐลงสู่ระบบได้มากในระดับหนึ่งแล้วจึงค่อยดำเนินการปรับขึ้นราคา

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศนั้น มองว่าอัตราเงินเฟ้อไม่ควรติดลบเกิน 5 เดือน ซึ่งตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไปอัตราเงินเฟ้อควรกลับมาเป็นบวกในช่วงที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับสู่ขาขึ้น พร้อมๆ กับเศรษฐกิจที่ถูกกระตุ้นจากภาครัฐ และหากทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้างก็จะช่วยสนับสนุนทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวได้ดี

“การที่ราคาน้ำมันเริ่มไต่ขึ้น เงินเฟ้อไม่ควรติดลบเกิน 5 หรือ แต่หากจะเป็นเดือนที่ 6 แม้จะเข้าสู่สัญญาณของเงินฝืดเล็กๆ แต่ว่าไม่ควรทะลุเกินเดือนที่ 7 หรือ 8 เพราะฉะนั้นภาวะเงินฝืดทางเทคนิคในประเทศไทยไม่ควรเกิด ควรจะจบลงที่ 4-5 เดือน ซึ่งเงินเฟ้อเดือนพ.ค.หรือมิ.ย.ควรกลับมาเป็นบวกจากสถานการณ์ราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้น และระบบเศรษฐกิจเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า สิ่งน่ากังวลมากกว่า คือเงินเฟ้อต่ำในขณะที่สถานการณ์ราคาพลังงานอยู่ในระดับต่ำ และอำนาจซื้อของประชาชนที่หายไป อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 จะเริ่มฟื้นขึ้นอย่างแน่นอน แต่ในช่วงรอยต่อของไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่สินค้าเกษตรยังมีราคาทรงตัวในระดับต่ำนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งให้เศรษฐกิจเงยหัวขึ้นให้ได้ เพื่อทำให้ภาพเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังโตได้อย่างโดดเด่นขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ